งานเลี้ยงของบาเบตต์ – Babette’s Feast

ต้ังแต่เขียนบล็อกมา เต๋อยังไม่เคยเขียนถึงหนังสือเล่มนี้เลย ทั้งๆที่เป็นหนังสือแปลเล่มแรกของตัวเอง แถมยังเป็นหนังสือสุดรักเล่มนึงด้วย คือเหมือนแปลเสร็จแล้ว ก็เก็บขึ้นหิ้งไปเลย แต่ตั้งแต่มีสำนักพิมพ์หยิบหนังสือแปลของตัวเองขึ้นมาพิมพ์ใหม่ ก็เลยคิดถึงเล่มนี้ขึ้นมา และหยิบขึ้นมาอ่านใหม่ เพราะอยากรู้ว่ามันจะยังดีมากเหมือนเดิมอย่างที่เราเคยรู้สึกรึเปล่า ปรากฏว่ายิ่งอ่านก็ยิ่งชอบนะคะ แถมยังได้แง่คิด และมีเรื่องชวนให้ขบคิดตามมามากกว่าตอนแปลครั้งโน้นอีก ก็ต้องเรียกว่า สมเป็นหนังสือคลาสสิคจริงๆ เพราะไม่ว่าเวลาจะผ่านมานานขนาดไหน ก็ยังสามารถอยู่กับเราได้ตลอด *ตอนนี้ งานเลี้ยงของบาเบตต์ ถูกนำกลับมาพิมพ์ใหม่แล้วค่ะ ออกกับสำนักพิมพ์สมมติ คลิกสั่งซื้อได้ที่นี่เลยค่ะ หน้าปกสวยสุดใจมากค่ะ*

“มีอะไรอยู่ในขวดนั้นหรือจ๊ะ บาเบตต์” เธอถามเบาๆ

“คงไม่ใช่ไวน์หรอกนะ”

“ไวน์สิคะมาดาม!” บาเบตต์ตอบ

“ไม่ใช่สิ มาดาม มันคือ โคลส์ วูโฌ ปี 1846 ต่างหาก”

พออ่านเรื่องนี้จบแล้ว จากที่เคยชอบ Karen Blixen (ชื่อจริงของ ไอแซค ไดนีเซน) อยู่แล้ว ก็ยิ่งชอบเธอเข้าไปอีก เต๋อยังนึกสงสัยอยู่เลยว่า เขียนดีขนาดนี้ เธอพลาดโนเบลไปได้อย่างไร เพราะนวนิยายขนาดสั้น เล่มบางๆเล่มนี้ มีทุกอย่างเลย ทั้งความเรียบง่าย และความหรูหราอลังการ มีความ contrast และ clash กันตลอด ขนาดเต๋อเอง ก็อ่านหนังสือมาไม่น้อยนะคะ ยังไม่ค่อยได้เจอหนังสือเล่มบางๆเล่มไหน ที่ให้อะไรกับคนอ่าน และมีเรื่องให้แตกประเด็นได้มากเท่าเล่มนี้ ทั้งในแง่ของประวัติศาสตร์ยุโรป ความเชื่อทางศาสนา ความดีงามของจิตใจมนุษย์ พรสวรรค์ที่พระเจ้าประทานมา ความอหังการ์ของศิลปิน แถมยังแทรกความเป็นเฟมินิสต์ไปได้อย่างมีชั้นเชิง และมีรสนิยมสุดๆอีก ที่สำคัญ เนื้อเรื่องก็น่ารักด้วย จะอ่านแบบเพลินๆก็ได้ หรือจะอ่านแบบซีเรียส ก็มีเรื่องให้ขบคิดไม่น้อย เวอร์ชั่นหนังก็ทำดีมากอีกต่างหาก เรียกว่าถ้าใครรักหนัง ก็จะต้องยิ่งรักหนังสือ และถ้าใครอ่านหนังสือแล้ว ก็สมควรที่จะต้องหาหนังมาดู จะยิ่งรักมากเข้าไปอีก เพราะมันดีงามทั้งคู่ และ uplifting ขั้นสุดค่ะ

หนังสือ “งานเลี้ยงของบาเบตต์”  หรือ “Babette’s Feast” เป็นเรื่องที่เล่าขานกันต่อๆมาถึงสองพี่น้องผู้เคร่งศาสนาคู่หนึ่ง ที่เป็นบุตรสาวของท่านสาธุคุณเจ้าของนิกายโปรแตสแตนท์ที่เคร่งครัดนิกายหนึ่ง ทั้งคู่ใช้ชีวิตอย่างสุดสมถะในเมืองเล็กๆที่ชื่อบาร์เลอโว้ก ในหุบเขาอันหนาวเหน็บของประเทศนอร์เวย์ โดยผู้คนในเมืองนั้น ต่างยึดมั่นในพระวัจนะของพระเจ้า โดยได้ละแล้วซึ่งกิเลสทางโลกทั้งปวง

ผู้หญิงคนนี้ได้ทำให้การรับประทานอาหารเย็นที่คาเฟ่อองเกลส์กลายเป็นเรื่องราวของความรักไปเสียแล้ว

อยู่มาวันหนึ่ง ได้มีหญิงชาวฝรั่งเศสนามว่า บาเบตต์ มาปรากฏตัวขึ้นที่หน้าบ้านของสองพี่น้อง ในสภาพที่หิวโหย เหน็บหนาว และหมดสิ้นเรี่ยวแรง ด้วยความที่มีจิดใจที่งดงาม สองพี่น้องจึงตัดสินใจรับอุปการะบาเบตต์ไว้ โดยให้เธอทำงานเป็นสาวใช้ในบ้าน  คอยดูแลเรื่องการครัว และอาหารการกินด้วย ซึ่งบาเบตต์ก็ทำหน้าที่โดยไม่ขาดตกบกพร่องเป็นเวลาถึง 12 ปีเต็ม

จนกระทั่งอยู่มาวันหนึ่ง ได้มีจดหมายจากฝรั่งเศสจ่าหน้าถึงบาเบตต์เพื่อแจ้งว่า เธอถูกลอตเตอรี่รางวัลที่หนึ่งของฝรั่งเศส โดยได้รับเงินรางวัลสูงถึง 10,000 ฟรังค์ ซึ่งเป็นเงินที่มากพอที่ช่วยให้บาเบตต์เดินทางกลับฝรั่งเศสได้สบายๆ ซึ่งตอนนั้น ก็ประจวบเหมาะพอดีกับการที่สองพี่น้อง ต้องจัดงานรำลึกถึงท่านสาธุคุณผู้เป็นบิดาพอดี

“พวกเราตัวสั่นเทาก่อนที่จะตัดสินใจเลือกทางเดินชีวิต และหลังจากเลือกทางเดินนั้นไปแล้วก็ตัวสั่นเทาอีก ด้วยความกลัวว่าจะเลือกผิดพลาด”

บาเบตต์เห็นดังนั้น จึงขันอาสา ขอเป็นผู้ปรุงอาหารค่ำแบบฝรั่งเศสแท้ๆ เลี้ยงเหล่าพี่น้องทั้งหลายเอง สองพี่น้องได้ยินดังนั้น ก็คัดค้านอย่างหัวชนฝา แต่ในที่สุดก็ต้องยอม เพราะทนท่าทีที่ยืนกรานของบาเบตต์ไม่ได้

และเมื่อถึงวันงาน บาเบตต์ได้รังสรรค์สิ่งมหัศจรรย์ให้บังเกิดขึ้นบนโต๊ะอาหาร ส่งผลให้เหล่าพี่น้องที่ได้ลิ้มลอง ถึงกับหลงลืมตัวตนไปชัวขณะ และลอยละล่องขึ้นไปสู่ห้วงแห่งความปิติ และความสุขอย่างเต็มตื้น และเหลือล้น ประหนึ่งได้เสพย์งานศิลปะชั้นเยี่ยม จากศิลปินชั้นยอด

พวกเขารู้แต่เพียงว่าห้องทั้งห้องได้สุกสว่างไปด้วยแสงแห่งสวรรค์ ราวกับว่ารัศมีทรงกลดเล็กๆ ที่อยู่เหนือหัวเทวดาได้หลอมรวมเข้าด้วยกันเป็นรัศมีสุกปลั่งเพียงหนึ่งเดียว … และแม้กระทั่งเวลาเองก็ยังหลอมรวมเข้าจนเป็นนิรันดร์

แล้วความลับทั้งหลายทั้งปวงของบาเบตต์ก็เปิดเผยขึ้นในคืนนั้นเอง ……

สิ่งที่แย่ และเลวร้ายจนเกินทนของการเป็นศิลปินก็คือ การที่ต้องถูกขอร้องในสิ่งที่เขาทำได้ไม่ดีถึงที่สุด ซ้ำยังได้รับการปรบมือชื่นชมอีกด้วย

งานเลี้ยงของบาเบตต์ หรือ Babette’s Feast เรื่องนี้ ได้ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์แล้วในปี 1987 โดยผู้กำกับชาวเดนมาร์ก ชื่อ เกเบรียล อาเซล อีกทั้งยังได้รับรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมอีกด้วย โดยมี Karl Lagerfeld แห่งห้องเสื้อชาเนลเป็นผู้ออกแบบเสื้อผ้าของบาเบตต์ค่ะ

นี่คือตัวอย่างภาพยนตร์เรื่อง Babette’s Feast ค่ะ ซึ่งนอกจากจะเป็นหนังในดวงใจของใครหลายๆคนแล้ว ยังเป็นภาพยนตร์เรื่องโปรดของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส (Pope Francis) ้ด้วยค่ะ  ❤  คลิกอ่านรายละเอียดตามลิงคืนี้ได้เลยนะคะ Why does Pope Francis want us to watch the movie “Babette’s Feast?” โป๊ปทรงโปรดภาพยนต์เรื่องนี้มาก ถึงกับทรงเขียนแนะนำไว้ในเอกสาร Amoris Laetitia ถือเป็นภาพยนตร์เรื่องแรก และเรื่องเดียวที่โป๊ปทรงเนะนำให้ดู โดยมีบันทึกลงไปในเอกสารของวาติกันเลยค่ะ จะขอหยิบยกช่วง food scene มาให้ชมกันนะคะ

และนี่ก็คือ Trailer ค่ะ น่ารักที่สุด

ขอปิดท้ายบล็อกด้วยเสื้อผ้าของบาเบตต์ที่ออกแบบโดย Karl Lagerfeld ให้ Stephane Audran ผู้แสดงเป็นบาเบตต์ (ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของเขาเอง) สวยงามมากเลยนะคะ ❤

BABETTE'S FEAST (1988)
Babette’s Feast (1987 Denmark) aka Babettes gÊstebud Directed by Gabriel Axel Shown: StÈphane Audran (as Babette Harsant)

Bon Appetit!

งานเลี้ยงของบาเบตต์ ประพันธ์โดยไอแซค ไดนีเสน (Isak Dinesen) นักประพันธ์หญิงชาวเดนมาร์ก ที่โดดเด่นมากระดับ Literary icon ของศตวรรษที่ 20 เป็นนักเขียนคนโปรดที่เต๋อประทับใจ และชื่นชมผลงานมากเลยค่ะ เพราะเต๋ออ่านงานเขียนของเธอหลายเล่มมาก และทุกครั้งที่อ่าน ก็นึกสงสัยมาตลอดว่า เขียนหนังสือดีมากขนาดนี้ พลาดรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมไปได้อย่างไร พอมาค้นคว้าหาข้อมูลก็ปรากฎว่า ไม่ใช่เราคนเดียวที่สงสัย เพราะระดับนักเขียนรางวัลโนเบลเองอย่าง Ernest Hemingway เองยังอยากยกรางวัลโนเบลของตัวเองให้เธอแทนเลย เต๋อก็เลยอยากรวบรวมประวัติ และเรื่องราว รวมถึงคุณงามความดีของเธอไว้ในบล็อกของตัวเอง เพื่อที่ใครผ่านมาเห็นเข้า จะได้รู้จักและคิดถึงเธอ ส่วนประวัติฉบับเต็ม ทางสำนักพิมพ์ได้จัดพิมพ์อย่างละเอียด และรวบรวมไว้ในหนังสือ งานเลี้ยงของบาเบตต์ ไว้ให้อ่านอย่างเต็มอื่มแล้วค่ะ ดีงามจริงๆ ต้องขอขอบคุณสนพเป็นอย่างมากมา ณ ที่นี่ด้วยค่ะ ❤

img_3669

ไอแซค ไดนีเสน (Isak Dinesen) คือนามปากกาที่ใช้ในการประพันธ์บทประพันธ์ที่เป็นภาษาอังกฤษของคาเร็น บลิกเซ็น (Karen Blixen) เธอเกิดที่ประเทศเดนมาร์กในปี 1885 ในตระกูลไดนีเซนที่ร่ำรวย พอถึงปี 1914 เธอได้แต่งงานกับบารอน บรอร์ บลิกเซ็น ผู้มีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้อง จึงทำให้เธอได้ยศเป็นบารอนเนสตามสามีไปด้วย หลังจากนั้นไม่นาน ทั้งเธอและสามี ก็ได้ย้ายไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริติช อีสท์ แอฟริกา เพื่อทำไร่กาแฟ ครั้นพอถึงปี 1921 บารอนเนส บลิกเซ็น ตัดสินใจหย่าขาดกับสามี แต่ยังคงทำไร่กาแฟต่ออีก 10 ปี จนกระทั่งเกิดวิกฤตการล่มสลายของตลาดกาแฟ เธอจึงต้องจำใจขายกิจการและทรัพย์สินที่มีอยู่ทั้งหมดเพื่อกลับประเทศเดนมาร์กในปี 1931 และที่ประเทศเดนมาร์กนี้เองที่คาเร็น บลิกเซ็น ได้เริ่มเขียนหนังสืออย่างจริงจัง โดยเธอจะประพันธ์งานเขียนของเธอเป็นภาษาอังกฤษ (แล้วจึงค่อยแปลกลับมาเป็นภาษาแดนนิชอีกครั้ง) โดยใช้นามปากกาว่า ไอแซค ไดนีเสน หนังสือเล่มแรกของเธอที่มีชื่อว่า Seven Gothic Tales นั้นประสบความสำเร็จอย่างสูง ตามติดมาด้วย Out of Africa, , The Angelic Avengers (ซึ่งเขียนภายใต้นามปากกาว่า Pierre Andrézel), Writer’s Tales, Last Tales, Anecdotes of Destiny (ที่มีเรื่อง Babette’s Feast รวมอยู่ด้วย), Shadows on the Grass, และ Ehrengard เธอเสียชีวิตในปี 1962

ผลงานของคาเร็น บลิกเซ็น ทุกเรื่องล้วนแสดงให้เห็นถึงพลังแห่งจินตนาการอันกว้างไกลไร้ขอบเขตของเธอทั้งสิ้น ซึ่งจัดว่าเป็นจุดเด่นในงานเขียนของเธออย่างหาใครเทียบได้ยาก งานเขียนของเธอ มักอยู่ในรูปของเรื่องเล่าในรูปแบบของเรื่องสั้นที่มักดึงเอาบางส่วนของนิยายปรัมปรา หรือเศษเสี้ยวของประวัติศาสตร์ยุโรปมาผูกเป็นเรื่องราวเสมอ และมักใช้ธีมที่หม่นมืดของยุคโกธิคมาสร้างเป็นพล็อต เพื่อให้ผู้อ่านค้นหาความหมายในแง่ของปรัชญา และศีลธรรมจรรยาที่ซ่อนอยู่ในนั้น ซึ่งเป็นความตั้งใจของเธอเอง ที่ต้องการให้ผู้อ่านงานเขียนของเธอ ขบคิด ค้นหา และตีความนัยยะที่ซ่อนอยู่ในเรื่องเล่าแบบนิยายปรัมปราของเธอทุกเรื่อง เรียกได้ว่า งานเขียนของเธอ นั้นทั้งเอื้อ และกระตุ้นให้เกิดการตีความได้อย่างมากมาย และต่อเนื่องไม่รู้จบ ถือเป็นเสน่ห์ที่ท้าทายนักอ่านของเธอตลอดมา และเรื่องสั้นของเธอ ถึงได้รับการยกย่องว่าเป็นงานระดับมาสเตอร์อย่างแท้จริง จึงไม่น่าแปลกใจที่ตลอดชีวิตของคาเร็น บลิกเซ็น เธอมีโอกาสเป็นตัวเต็งในการที่จะได้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรมอยู่หลายครั้ง แต่ก็มีอันต้องพลาดไป จนเออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ถึงกับออกปากว่า ตัวเธอนั้นเหมาะสมที่จะได้รางวัลนี้มากกว่าเขาเสียอีก

และด้วยบุคลิกท่าทาง รูปร่างหน้าตา การแต่งกาย และผลงานที่โดดเด่นของเธอ ทำให้คาเร็น บลิกเซ็น ได้รับการกล่าวขานให้เป็นไอคอนคนสำคัญแห่งศตวรรษที่ 20 คนหนึ่งเลยทีเดียว โดยรัฐบาลประเทศเดนมาร์กได้นำรูปภาพของเธอมาพิมพ์บนธนบัตร 50 โครนของเดนมาร์ก และแสตมป์ของเดนมาร์กถึง 2 รุ่น นอกจากนี้ ยังได้ตั้งชื่อดาวเคราะห์น้อย Asteroid 3318 Blixen เพื่อเป็นเกียรติแก่เธอในวันคล้ายวันเกิดครบรอบ 100 ปีของเธออีก และแม้แต่กูเกิลเอง ก็ฉลองวันเกิดครบรอบ 125 ปีให้เธอด้วย Google Doodle ในวันที่ 17 เมษายน 2010

คาเร็น บลิกเซ็นเสียชีวิตในปี 1962 ที่คฤหาสน์ของครอบครัวในเมือง Rungsted ประเทศเดนมาร์ก โดยร่างของเธอถูกฝังไว้ที่นั่น ที่ต่อมา ได้เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ Karen Blixen ให้สาธารณชนเข้าชม เพื่อศึกษางานเขียน และเรียนรู้ตัวตนของเธอ โดยมีไฮไลต์คือห้อง Ewald’s room ที่เธอใช้เขียนหนังสือเป็นส่วนใหญ่ กับสวนด้านนอกที่ประกอบไปด้วยต้นไม้ ดอกไม้หลากหลายพันธุ์ที่ได้รับการดูแลอย่างเอาใจใส่อย่างดี โดยเน้นให้เห็นถึงแนวคิดด้าน ความหลากหลายทางชีวภาพที่เธอโปรดปราน

คลิกเข้าไปชมมิวเซียมของเธอได้ที่นี่ค่ะ

Karen Blixen home in Denmark

 นี่คือแกลอรีรวบรวมรูปของเธอ (รวมถึงรูปบ้านในเดนมาร์ก) ที่เต๋อเก็บรวบรวมไว้ อยากแบ่งปันให้นักอ่านที่ติดตามบล็อก หรือใครก็ตามที่บังเอิญผ่านเข้ามาดูได้รับชมไปด้วยกันค่ะ ทั้งตัวตน และงานเขียนของเธอ ล้วนแต่น่าชื่นชม ยกย่อง และยึดถือเป็นแบบอย่างจริงๆ ❤

และนี่ก็คือรูปภาพของเธอที่ถ่ายโดยช่างภาพชื่อดังในสมัยที่ Studio 54 โด่งดังถึงขีดสุด Peter Beard ถ่ายตอนท้ายๆ ช่วงที่เธอใกล้เสียชีวิตแล้ว

และนี่ก็คือ excerpt หนึ่งในเรื่อง Babette’s Feast (งานเลี้ยงของบาเบตต์) ที่อยู่บนผนังห้องครัวของ Karen Blixen museum ในเดนมาร์กค่ะ (จริงๆเรื่องนี้เธอแต่งเป็นภาษาอังกฤษ แล้วค่อยแปลกลับเป้นภาษาแดนิชอีกที)

ผู้หญิงคนนี้ได้ทำให้การรับประทานอาหารค่ำที่คาเฟ่ อองเกลส์ กลายเป็นเรื่องราวของความรักไปเสียแล้ว เพราะมันคือสัมพันธ์รักระหว่างสิ่งซึ่งสูงส่งกับความโรแมนติกที่หลอมรวมกัน ….

7f485f0d-fbe2-4e94-88a9-bf29063fc4b6

งานเลี้ยงของบาเบตต์ (Babette’s Feast)

ไอแซค ไดนีเสน (Isak Dinesen) ผู้ประพันธ์

รสวรรณ พึ่งสุจริต แปล 

120 หน้า  (200 บาท )

สำนักพิมพ์สมมติ