Madame Bovary

 

สวัสดีค่า ขึ้นปีใหม่แล้ว แถมยังเป็นปีใหม่ ปีหนูไฟที่มีแต่เรื่องราวต่างๆมากมายถาโถมเข้าใส่โลกเราอย่างไม่หยุดหย่อนมาต้ังแต่ต้นปีอีก ก็เลยคิดว่าอยากเปลี่ยนบรรยากาศ พร้อมปรับอารมณ์ตัวเองด้วยความสละสลวย สวยงามแบบฝรั่งเศส ด้วยวรรณกรรมฝรั่งเศสเรื่องโปรดของตัวเองดีกว่า เพราะอยู่ดีๆก็เกิดคิดถึงมาดามโบวารีเล่มนี้ขึ้นมา ก็เลยหยิบขึ้นมาอ่านเป็นรอบที่สาม ภายในระยะเวลาเกือบ 30 ปี ตั้งแตเริ่มอ่านครั้งแรกเวอร์ชันภาษาไทยที่อจ. วิทย์ ศิวะศรียานนท์แปลจากภาษาฝรั่งเศส ตอนนั้นเต๋อเรียนอยู่จุฬาปี 3  แต่เวอร์ชันที่อ่านรอบที่ 3 นี้  เป็นภาษาอังกฤษนะคะ เป็นชุด Collins Classics หน้าปกก็ตามที่เห็นเลยค่ะ 🙂 ซึ่งอ่านแล้วก็ประทับใจสุดๆ เพราะรู้สึกว่าตัวเองเข้าใจเรื่องราว ตัวตนของมาดามโบวารี และของโฟลแบร์ตเองได้อย่างชัดเจน มากกว่าทุกรอบที่่ผ่านมา เป็นรอบที่สามที่สนุกที่สุด ขำที่สุด ซ้ำยังปวดหัวใจ และสะเทือนใจที่สุดอีกด้วย ❤

205e3fdf-4b79-4115-968e-c39453a3a745

ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณอจ.วิทย์ผู้แปลเรื่องนี้มากค่ะ เพราะมาดามโบวารีภาคภาษาไทยของอจ. เป็นหนังสือที่เปิดโลกการอ่านให้กับเต๋อมากเลย สำหรับเต๋อแล้ว มาดามโบวารี เป็นวรรณกรรมเล่มแรกที่่ดึงเต๋อให้หลุดออกจากกรอบความคิดแบบเดิมๆ การมองโลกแบบเดิมๆที่เราถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เกิด ที่เคยเชื่อกันว่า นางเอกต้องเป็นคนดี เรียบร้อย พระเอกต้องหล่่อ มีเสน่ห์ และเก่งกาจสารพัด ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เลย เพราะมาดามโบวารี แต่งงาน มีลูกและสามีแล้ว แถมยังมีชู้สนั่นอีก 🙂 จำได้ว่าพออ่านจบ หนังสือเล่มนี้ได้เปลี่ยนมุมมองชีวิตของเราไปตลอดกาล ภาษาอังกฤษ ก็ต้องเรียกว่า eye-opener หรือเบิกเนตรเรามาก มันทำให้ความคิดของเราเปิดกว้างจริงๆ จนเต๋อไม่เคยใช้หลักศีลธรรมมาขีดเส้นบังคับใคร หรือตัดสินใครอีกเลย รู้สึก่ว่าตัวเองโชคดีมาก ที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น เรียกว่าได้รู้เดียงสา ก็จากมาดามโบวารีของอจ. วิทย์เลยค่ะ ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เต๋อสนใจ ถึงขั้นหลงไหลวรรณกรรมฝรั่งเศสไปเลย ทำให้เรา explore งานเขียนของวอลแตร์ (Candide, Zadig) บัลซัค (Human Comedy) กามูส์ จนมาสุดที่ In Search of Lost Time ของพรูสต์ไปเลย (เหลือแต่ Victor Hugo เท่านั้นที่ยังไม่ได้รู้จักกันผ่านตัวอักษรแบบจริงจังซักที แ่ต่รักละครเพลง Les Miserables ที่สุด) แต่ส่วนตัวเฉยๆกับเจ้าชายน้อยนะคะ ชอบในระดับหนึ่ง แต่ไม่มากถึงขนาดมีอิทธิพลเปลี่ยนชีวิตเราได้อย่างเล่มที่กล่าวไว้ข้างบน

มาดามโบวารี เป็นเรื่องราวของเอมม่า โบวารี หญิงสาวสวยลูกสาวชาวไร่แห่งหนึ่งในเมืองรูออง ประเทศฝรั่งเศส ที่ชีวิตเหมือนจะดี และเพียบพร้อมแล้ว เพราะได้แต่งงานกับชาร์ล โบวารี ที่เป็นหมอ มีหน้าที่การงานที่มั่นคง แต่จะด้วยความช่างฝัน ความสำรวย รักสวยรักงาม และความฟุ้งเฟ้อของเธอเองหรือเปล่า ที่ทำให้เอมม่าไม่พอใจ และเบื่อหน่ายชีวิตแต่งงานที่แสนจะราบเรียบ ไร้ซึ่งความหรูหรา น่าตื่นตาตื่นใจใดๆ แถมสามีก็ยังน่าเบื่ออีก ประกอบกับเอมม่าเป็นผู้หญิงที่น่ารัก ช่างแตงตัว ฟรุ้งฟริ้งไปหมด เธอสวย และมีเสน่ห์มาก โดยเฉพาะความซื่อที่เป็นเสน่ห์เฉพาะตัวเลย ทำให้มีชายหนุ่มมาติดพัน จนถึงขั้นมีความสัมพันธ์ฉันท์ชู้สาวกันถึง 2 คน (เรียกง่ายๆว่ามีชู้ล่ะค่ะ) จนทำให้ครอบครัวต้องอัปปาง เป็นหนี้สินจนถึงขั้นหมดตัว ตัวเธอเองก็ต้องจบชีวิตลงด้วยน้ำมือของตัวเอง สามีก็เสียใจจนตาย ส่วนลูกสาวก็ต้องยกให้คนอื่นเลี้ยง และมีความเป็นอยู่อย่างลำบากแร้นแค้นไปตลอดชีวิต

และนี่ก็คือความคับแค้นใจของเธอ

Then the lusts of the flesh, the longing for money, and the melancholy of passion all blended themselves into one suffering…. What exasperated her was that Charles did not seem to notice her anguish… Was it not for him, the obstacle to all felicity, the cause of all misery, and, as it were, the sharp clasp of that complex strap that bucked her in on all sides.

เต๋อประทับใจตัวละครเอมม่าสุดๆ โฟลแบร์ตปูพื้นได้ดีมาก มีมิติ อ่านแล้วอิน ทั้งเอ็นดู และเห็นใจนางตามไปด้วยเลย เอมม่าคือต้นแบบของหญิงสาวคาทอลิก ที่เติบโตมาในโรงเรียนคอนแวนต์อย่างแท้จริง เธอโตมากับคณะอุสุลิน (ซึ่งถ้าเป็นเมืองไทย ก็รร มาแตร์) เต๋ออ่านแล้วอินมาก เพราะตัวเองก็เรียนโรงเรียนคอนแวนต์เหมือนกัน (แต่เป็นคณะภคิณี เซนต์ปอล เดอ ชาร์ต ซึ่งเป็นสายฝรั่งเศสเหมือนกัน) ก็เลยพอจะเก็ทความฟุ้ง ความฝันเฟื่อง ความมีจริตก้าน ความรักสวยรักงาม ช่างแต่งตัว ความสำรวยหยิบโหย่ง รวมถึงการทีต้องเติบโตมาในกรอบของโรงเรียนคอนแวนต์ได้เป็นอย่างดี มันเป็นกรอบที่พวกเราอยาก rebel ตลอด (ซึ่งเขาก็มี room และให้ freedom เราให้ rebel ได้ตลอดเหมือนกันนะคะ มันเลยเป็นแค่กรอบ ที่ไม่ได้ครอบงำความคิด ความฝันของเราแต่อย่างใด) เพียงแต่เอมม่าเธอลุกขึ้นมาฉีกกรอบของสังคม จนสร้างความพินาศให้กับครอบครัวได้สุดจริงๆ เป็นตัวละครที่ถ้าใครได้อ่านแล้ว จะไม่มีวันลืมเธอได้ลงเลยละค่ะ

She repeated “I have a lover! delighting at the idea as if a second puberty had come to her. So at last she was to know those joys of love, that happiness of which she had despaired!

จนอยูู่มาวันหนึ่ง ความสวยโดดเด่นของเธอก็ไปต้องตา Rodolphe หนุ่มเพลย์บอย ไฮโซแถวนั้นเข้า ซึ่ง Rodolphe ก็ใช้เล่ห์ชายโฉดล่อลวงเอมม่าให้ตกเป็นของเขาได้ในที่สุด ตอนนี้ เต๋อชอบมากเลย เพราะนอกจากฉากจีบกันในงานเกษตรแฟร์ที่โฟลแบร์ตเขียนเสียดสีได้ตลกมากแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงการที่เอมม่าได้ liberate (ปลดปล่อย) ตัวเองออกจากความเบือหน่ายที่คอยถ่วงรั้งเธอให้จมดิ่งลงไปในความคับแค้นใจกับสภาพครอบครัวจนแทบไม่เห็นทางออก จริงๆเอมม่าหลงรัก Leon ซึ่งเป็นเด็กหนุ่มเสมียนที่มาฝึกงานกับข้างบ้านมาก่อน แต่เธอสะกดกลั้นอารมณ์รักไว้ ไม่ยอมเปิดช่องให้ Leon เข้ามาสานสัมพันธ์ได้เลย ซึ่งตัวเธอเองก็ทุกข์ระทมกับมันมาก เพราะต้องเก็บกดความปรารถนาที่พุ่งพล่านอยู่ข้างในตัวเองไว้ จนมาระเบิดเอากับ Rodolphe ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่ทำให้เธอทั้งมีความสุข และสะใจมากไปพร้อมๆกัน

ยิ่งตอนที่เธอมีชู้แล้ว เอมม่ายิ่งสวยเจิด มีเสน่ห์ และเตะตาเข้าไปอีก เหมือนผู้หญิงที่หาตัวเองเจอแล้ว ว่าจริงๆตัวเองเป็นอย่างไร อ่านแล้วชอบมากเลยค่ะ

Never had Madame Bovary been so beautiful as at this period, she had that indefinable beauty that results from joy, from enthusiasm, from success, and that is only the harmony of temperament with circumstances…..

She was in love with Leon, … the sight of his form troubled the voluptuousness of this mediation.  Emma thrilled at the sound of his step, then in his presence the emotion subsided, and afterwards there remained to her only an immense astonishment that ended in sorrow …

มาลองสัมผัสความรักของเธอที่มีต่อ Leon กันนะคะ โฟลแบร์บรรยายได้ดีมาก อ่านแล้วรับรู้ความรู้สึกของความรักที่ต้องเก็บกดเอาไว้ ไม่รู้ว่ามันจะระเบิดออกมาเมื่อไหร่ รู้เลยว่ามันเกาะกินใจเอมม่ามาก ซึ่งถ้ามองอย่างเป็นธรรม เธอเองก็พยายามสะกดกลั้นแล้ว ถึงกับเข้าวัดเข้าวา หาหนังสืออาน หางานอย่างอื่นมาทำเพื่อสะกดอารมณ์ตัวเอง แม้แต่ตอนที่โชคชะตาชักนำให้กลับมาเจอ Leon อีกครั้ง เอมม่าก็พยายามนัดเจอที่โบสถ์ เหมือนจะพยายามถ่วงเวลา เพื่อเธอจะได้สะกดอารมณ์รัก อารมณ์ปรารถนาของเธอไว้ เพื่อยื้อให้นานที่สุด แต่สุดท้าย ก็หนีความรู้สึกไม้ได้ ต้องยอมจำนนกับแรงปรารถนาที่สุมอยู่ในอกของตนเองในที่สุด อ่านแล้วเข้าใจ และเห็นใจนางมากคะ คือโทษเธอไม่ลงจริงๆ ซึ่งพอได้สมรักกับ Leon แล้ว เอมม่าก็เลยกู่ไม่กลับ ใช้เงินเกินตัว ก่อหนี้สินจนนำไปสู่ความพินาศของครอบครัวในที่สุด อ่านแล้วสงสารชาร์ล – ผู้เป็นสามี กับ แบร์ต (Berthe) ลูกสาวอย่างที่สุด คือไม่รู้จะโทษใครได้ นอกจากโชคชะตาที่ขยันเล่นตลกกับครอบครัวนี้จริงๆ ต้องอ่านให้ถึงตอนจบจริงๆค่ะ ตอนที่ชาร์ลมาเจอกับ Rodolphe (ที่เป็นชู้กับเอมม่าคนแรก แล้วเทนางไป ตอนที่เอมม่าเริ่มคิดจริงๆว่าจะหอบลูกสาวหนีตามกันไป) แล้วบอกกับ Rodolphe ว่าเขาไมโทษ Rodolphe หรอก จะโทษ ก็โทษโชคชะตา หรือเวรกรรมมากกว่า อ่านแล้วน้ำตาร่วงเลยค่ะ สงสารชาร์ลกับลูกสาวมาก ถึงกับรู้สึกหน่วงๆในใจไปหลายวันเลย

“No, I don’t blame you now.”
He even added a fine phrase, the only one he ever made —

“It is the fault of fatality!”

ไม่เพียงแต่เรื่องนี้จะเศร้า และกินใจแล้ว จริงๆเป็นหนังสือที่อานสนุกมากด้วยค่ะ โฟลแบร์ตเขียนเก่งสุดๆ สมเป็นงานระดับปรมาจารย์จริงๆ ถ้าพูดในแง่ของภาษาแล้ว โฟลแบร์ตกล้่นกรองออกมาได้อย่างงดงาม สละสวย สมบูรณ์แบบมากค่ะ ไม่มีคำไหนเลยที่จะเกินเลย หรือหยาบกระด้าง ทุกคำ อ่านแล้วรู้เลยว่าใคร่ครวญมาอย่างดี ได้ทั้งความหมาย และความงดงามของภาษาไปพร้อมกัน สมเป็น perfectionist ด้านภาษาอย่างแท้จริง (ความบรรเจิดเพริดพริ้ง จะเป็นรองก็แต่พรูสต์คนเดียวเท่านั้น) ส่วนในแง่ของอารมณ์ขัน นี่คือตลกมากค่ะ มีตั้งแต่หัวเราะหึๆ ไปจนถึงขำก้ากกก ถึงขนาดอยากติดแฮชแทค #โฟลแบรต์เป็นคนตลก ให้เลย 😀 บางตอนก็สติเฟื่องจนต้องส่ายหัว ยอมใจกับไอเดียบรรเจิดของตัวละครจริงๆ 😉 😀 เป็นวรรณกรรมยุคศตวรรษที่ 19 ที่ทั้งโรแมนติก และ Realist มาก ที่สำคัญ เรื่องนี้ touch ทุกอย่าง ไม้เว้นกระทั่งเรื่องศาสนา และวิทยาศาสตร์ เป็นวรรณกรรมที่มีความเป็นคาทอลิกสูงมาก และยังหัวก้าวหน้ามากด้วยค่ะ (ชอบตอนที่ Homais คุยกับพระ เหมือนคู่กัดกันตลอด)

อีกอย่างที่อยากจะชมคือ สำนวนแปลของ Collins edition เล่มนี้ สุดจริงๆ ส่วนตัวคิดว่าดีกว่าเล่มเพนกวินที่มาโนโลออกแบบเยอะมาก ราคาก็ถูกด้วยค่ะ เต๋อซื้อมาเล่มละ 69 บาทเอง ไม่น่าเชื่อนะคะ แปลดีขั้นสุด (ในฐานะนักแปล ชอบเวอร์ชันแปลเล่มนี้มาก นับถือการเลือกใช้คำเลยค่ะ)

ขอแนะนำให้อ่านกันค่ะ ไม่ผิดหวังจริงๆ อ่านแล้วรู้เลยว่างานเขียนระดับมาสเตอร์มันต้องสุดขนาดนี้ ตอนนี้เต๋อเตรียม Sentimental Education รอไว้เลยค่ะ เพราะเริ่มจะเข้าใจ และติดใจตัวตนของโฟลแบร์ตแล้ว ❤

จริงๆตอนอ่านรอบแรก รู้สึกถึงความคล้ายคลึงกันระหวาง โฟลแบร์ต กับ กีย์ เดอ โมปาสซัง มาเข้าใจจริงๆเอารอบที่ 3 เพราะมาอ่านประวัติของโฟลแบร์ตดู ปรากฏว่าเป็นอาจารย์ของกีย์ เดอ โมปาสซังนี่เอง

มาดามโบวารีมีทำเป็นหนังด้วยนะคะ ซึ่งก็ทำได้ดีพอสมควร เพียงแต่เต๋อยังไม่ค่อยประทับใจคนที่เล่นเป็นเอมม่าสักเท่าไหร่ แต่ Ezra Miller เล่นเป็น Leon ได้หล่อบาดใจมากค่ะ ลองดูรูปนะคะ และก็จะขออวด Madame Bovary ที่ตัวเองเก็บสะสมไว้ด้วยเลย 🙂

แนะนำอย่างที่สุดค่ะ เพราะคนเราควรอ่านวรรณกรรมยุคศตวรรษที่ 19 ไว้สอนใจจริงๆ ❤

Madame Bovary 

by

Gustave Flaubert

Collins Classics Edition

416 pages