งานเลี้ยงของบาเบตต์ – Babette’s Feast

ต้ังแต่เขียนบล็อกมา เต๋อยังไม่เคยเขียนถึงหนังสือเล่มนี้เลย ทั้งๆที่เป็นหนังสือแปลเล่มแรกของตัวเอง แถมยังเป็นหนังสือสุดรักเล่มนึงด้วย คือเหมือนแปลเสร็จแล้ว ก็เก็บขึ้นหิ้งไปเลย แต่ตั้งแต่มีสำนักพิมพ์หยิบหนังสือแปลของตัวเองขึ้นมาพิมพ์ใหม่ ก็เลยคิดถึงเล่มนี้ขึ้นมา และหยิบขึ้นมาอ่านใหม่ เพราะอยากรู้ว่ามันจะยังดีมากเหมือนเดิมอย่างที่เราเคยรู้สึกรึเปล่า ปรากฏว่ายิ่งอ่านก็ยิ่งชอบนะคะ แถมยังได้แง่คิด และมีเรื่องชวนให้ขบคิดตามมามากกว่าตอนแปลครั้งโน้นอีก ก็ต้องเรียกว่า สมเป็นหนังสือคลาสสิคจริงๆ เพราะไม่ว่าเวลาจะผ่านมานานขนาดไหน ก็ยังสามารถอยู่กับเราได้ตลอด *ตอนนี้ งานเลี้ยงของบาเบตต์ ถูกนำกลับมาพิมพ์ใหม่แล้วค่ะ ออกกับสำนักพิมพ์สมมติ คลิกสั่งซื้อได้ที่นี่เลยค่ะ หน้าปกสวยสุดใจมากค่ะ*

“มีอะไรอยู่ในขวดนั้นหรือจ๊ะ บาเบตต์” เธอถามเบาๆ

“คงไม่ใช่ไวน์หรอกนะ”

“ไวน์สิคะมาดาม!” บาเบตต์ตอบ

“ไม่ใช่สิ มาดาม มันคือ โคลส์ วูโฌ ปี 1846 ต่างหาก”

พออ่านเรื่องนี้จบแล้ว จากที่เคยชอบ Karen Blixen (ชื่อจริงของ ไอแซค ไดนีเซน) อยู่แล้ว ก็ยิ่งชอบเธอเข้าไปอีก เต๋อยังนึกสงสัยอยู่เลยว่า เขียนดีขนาดนี้ เธอพลาดโนเบลไปได้อย่างไร เพราะนวนิยายขนาดสั้น เล่มบางๆเล่มนี้ มีทุกอย่างเลย ทั้งความเรียบง่าย และความหรูหราอลังการ มีความ contrast และ clash กันตลอด ขนาดเต๋อเอง ก็อ่านหนังสือมาไม่น้อยนะคะ ยังไม่ค่อยได้เจอหนังสือเล่มบางๆเล่มไหน ที่ให้อะไรกับคนอ่าน และมีเรื่องให้แตกประเด็นได้มากเท่าเล่มนี้ ทั้งในแง่ของประวัติศาสตร์ยุโรป ความเชื่อทางศาสนา ความดีงามของจิตใจมนุษย์ พรสวรรค์ที่พระเจ้าประทานมา ความอหังการ์ของศิลปิน แถมยังแทรกความเป็นเฟมินิสต์ไปได้อย่างมีชั้นเชิง และมีรสนิยมสุดๆอีก ที่สำคัญ เนื้อเรื่องก็น่ารักด้วย จะอ่านแบบเพลินๆก็ได้ หรือจะอ่านแบบซีเรียส ก็มีเรื่องให้ขบคิดไม่น้อย เวอร์ชั่นหนังก็ทำดีมากอีกต่างหาก เรียกว่าถ้าใครรักหนัง ก็จะต้องยิ่งรักหนังสือ และถ้าใครอ่านหนังสือแล้ว ก็สมควรที่จะต้องหาหนังมาดู จะยิ่งรักมากเข้าไปอีก เพราะมันดีงามทั้งคู่ และ uplifting ขั้นสุดค่ะ

หนังสือ “งานเลี้ยงของบาเบตต์”  หรือ “Babette’s Feast” เป็นเรื่องที่เล่าขานกันต่อๆมาถึงสองพี่น้องผู้เคร่งศาสนาคู่หนึ่ง ที่เป็นบุตรสาวของท่านสาธุคุณเจ้าของนิกายโปรแตสแตนท์ที่เคร่งครัดนิกายหนึ่ง ทั้งคู่ใช้ชีวิตอย่างสุดสมถะในเมืองเล็กๆที่ชื่อบาร์เลอโว้ก ในหุบเขาอันหนาวเหน็บของประเทศนอร์เวย์ โดยผู้คนในเมืองนั้น ต่างยึดมั่นในพระวัจนะของพระเจ้า โดยได้ละแล้วซึ่งกิเลสทางโลกทั้งปวง

ผู้หญิงคนนี้ได้ทำให้การรับประทานอาหารเย็นที่คาเฟ่อองเกลส์กลายเป็นเรื่องราวของความรักไปเสียแล้ว

อยู่มาวันหนึ่ง ได้มีหญิงชาวฝรั่งเศสนามว่า บาเบตต์ มาปรากฏตัวขึ้นที่หน้าบ้านของสองพี่น้อง ในสภาพที่หิวโหย เหน็บหนาว และหมดสิ้นเรี่ยวแรง ด้วยความที่มีจิดใจที่งดงาม สองพี่น้องจึงตัดสินใจรับอุปการะบาเบตต์ไว้ โดยให้เธอทำงานเป็นสาวใช้ในบ้าน  คอยดูแลเรื่องการครัว และอาหารการกินด้วย ซึ่งบาเบตต์ก็ทำหน้าที่โดยไม่ขาดตกบกพร่องเป็นเวลาถึง 12 ปีเต็ม

จนกระทั่งอยู่มาวันหนึ่ง ได้มีจดหมายจากฝรั่งเศสจ่าหน้าถึงบาเบตต์เพื่อแจ้งว่า เธอถูกลอตเตอรี่รางวัลที่หนึ่งของฝรั่งเศส โดยได้รับเงินรางวัลสูงถึง 10,000 ฟรังค์ ซึ่งเป็นเงินที่มากพอที่ช่วยให้บาเบตต์เดินทางกลับฝรั่งเศสได้สบายๆ ซึ่งตอนนั้น ก็ประจวบเหมาะพอดีกับการที่สองพี่น้อง ต้องจัดงานรำลึกถึงท่านสาธุคุณผู้เป็นบิดาพอดี

“พวกเราตัวสั่นเทาก่อนที่จะตัดสินใจเลือกทางเดินชีวิต และหลังจากเลือกทางเดินนั้นไปแล้วก็ตัวสั่นเทาอีก ด้วยความกลัวว่าจะเลือกผิดพลาด”

บาเบตต์เห็นดังนั้น จึงขันอาสา ขอเป็นผู้ปรุงอาหารค่ำแบบฝรั่งเศสแท้ๆ เลี้ยงเหล่าพี่น้องทั้งหลายเอง สองพี่น้องได้ยินดังนั้น ก็คัดค้านอย่างหัวชนฝา แต่ในที่สุดก็ต้องยอม เพราะทนท่าทีที่ยืนกรานของบาเบตต์ไม่ได้

และเมื่อถึงวันงาน บาเบตต์ได้รังสรรค์สิ่งมหัศจรรย์ให้บังเกิดขึ้นบนโต๊ะอาหาร ส่งผลให้เหล่าพี่น้องที่ได้ลิ้มลอง ถึงกับหลงลืมตัวตนไปชัวขณะ และลอยละล่องขึ้นไปสู่ห้วงแห่งความปิติ และความสุขอย่างเต็มตื้น และเหลือล้น ประหนึ่งได้เสพย์งานศิลปะชั้นเยี่ยม จากศิลปินชั้นยอด

พวกเขารู้แต่เพียงว่าห้องทั้งห้องได้สุกสว่างไปด้วยแสงแห่งสวรรค์ ราวกับว่ารัศมีทรงกลดเล็กๆ ที่อยู่เหนือหัวเทวดาได้หลอมรวมเข้าด้วยกันเป็นรัศมีสุกปลั่งเพียงหนึ่งเดียว … และแม้กระทั่งเวลาเองก็ยังหลอมรวมเข้าจนเป็นนิรันดร์

แล้วความลับทั้งหลายทั้งปวงของบาเบตต์ก็เปิดเผยขึ้นในคืนนั้นเอง ……

สิ่งที่แย่ และเลวร้ายจนเกินทนของการเป็นศิลปินก็คือ การที่ต้องถูกขอร้องในสิ่งที่เขาทำได้ไม่ดีถึงที่สุด ซ้ำยังได้รับการปรบมือชื่นชมอีกด้วย

งานเลี้ยงของบาเบตต์ หรือ Babette’s Feast เรื่องนี้ ได้ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์แล้วในปี 1987 โดยผู้กำกับชาวเดนมาร์ก ชื่อ เกเบรียล อาเซล อีกทั้งยังได้รับรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมอีกด้วย โดยมี Karl Lagerfeld แห่งห้องเสื้อชาเนลเป็นผู้ออกแบบเสื้อผ้าของบาเบตต์ค่ะ

นี่คือตัวอย่างภาพยนตร์เรื่อง Babette’s Feast ค่ะ ซึ่งนอกจากจะเป็นหนังในดวงใจของใครหลายๆคนแล้ว ยังเป็นภาพยนตร์เรื่องโปรดของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส (Pope Francis) ้ด้วยค่ะ  ❤  คลิกอ่านรายละเอียดตามลิงคืนี้ได้เลยนะคะ Why does Pope Francis want us to watch the movie “Babette’s Feast?” โป๊ปทรงโปรดภาพยนต์เรื่องนี้มาก ถึงกับทรงเขียนแนะนำไว้ในเอกสาร Amoris Laetitia ถือเป็นภาพยนตร์เรื่องแรก และเรื่องเดียวที่โป๊ปทรงเนะนำให้ดู โดยมีบันทึกลงไปในเอกสารของวาติกันเลยค่ะ จะขอหยิบยกช่วง food scene มาให้ชมกันนะคะ

และนี่ก็คือ Trailer ค่ะ น่ารักที่สุด

ขอปิดท้ายบล็อกด้วยเสื้อผ้าของบาเบตต์ที่ออกแบบโดย Karl Lagerfeld ให้ Stephane Audran ผู้แสดงเป็นบาเบตต์ (ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของเขาเอง) สวยงามมากเลยนะคะ ❤

BABETTE'S FEAST (1988)
Babette’s Feast (1987 Denmark) aka Babettes gÊstebud Directed by Gabriel Axel Shown: StÈphane Audran (as Babette Harsant)

Bon Appetit!

งานเลี้ยงของบาเบตต์ ประพันธ์โดยไอแซค ไดนีเสน (Isak Dinesen) นักประพันธ์หญิงชาวเดนมาร์ก ที่โดดเด่นมากระดับ Literary icon ของศตวรรษที่ 20 เป็นนักเขียนคนโปรดที่เต๋อประทับใจ และชื่นชมผลงานมากเลยค่ะ เพราะเต๋ออ่านงานเขียนของเธอหลายเล่มมาก และทุกครั้งที่อ่าน ก็นึกสงสัยมาตลอดว่า เขียนหนังสือดีมากขนาดนี้ พลาดรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมไปได้อย่างไร พอมาค้นคว้าหาข้อมูลก็ปรากฎว่า ไม่ใช่เราคนเดียวที่สงสัย เพราะระดับนักเขียนรางวัลโนเบลเองอย่าง Ernest Hemingway เองยังอยากยกรางวัลโนเบลของตัวเองให้เธอแทนเลย เต๋อก็เลยอยากรวบรวมประวัติ และเรื่องราว รวมถึงคุณงามความดีของเธอไว้ในบล็อกของตัวเอง เพื่อที่ใครผ่านมาเห็นเข้า จะได้รู้จักและคิดถึงเธอ ส่วนประวัติฉบับเต็ม ทางสำนักพิมพ์ได้จัดพิมพ์อย่างละเอียด และรวบรวมไว้ในหนังสือ งานเลี้ยงของบาเบตต์ ไว้ให้อ่านอย่างเต็มอื่มแล้วค่ะ ดีงามจริงๆ ต้องขอขอบคุณสนพเป็นอย่างมากมา ณ ที่นี่ด้วยค่ะ ❤

img_3669

ไอแซค ไดนีเสน (Isak Dinesen) คือนามปากกาที่ใช้ในการประพันธ์บทประพันธ์ที่เป็นภาษาอังกฤษของคาเร็น บลิกเซ็น (Karen Blixen) เธอเกิดที่ประเทศเดนมาร์กในปี 1885 ในตระกูลไดนีเซนที่ร่ำรวย พอถึงปี 1914 เธอได้แต่งงานกับบารอน บรอร์ บลิกเซ็น ผู้มีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้อง จึงทำให้เธอได้ยศเป็นบารอนเนสตามสามีไปด้วย หลังจากนั้นไม่นาน ทั้งเธอและสามี ก็ได้ย้ายไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริติช อีสท์ แอฟริกา เพื่อทำไร่กาแฟ ครั้นพอถึงปี 1921 บารอนเนส บลิกเซ็น ตัดสินใจหย่าขาดกับสามี แต่ยังคงทำไร่กาแฟต่ออีก 10 ปี จนกระทั่งเกิดวิกฤตการล่มสลายของตลาดกาแฟ เธอจึงต้องจำใจขายกิจการและทรัพย์สินที่มีอยู่ทั้งหมดเพื่อกลับประเทศเดนมาร์กในปี 1931 และที่ประเทศเดนมาร์กนี้เองที่คาเร็น บลิกเซ็น ได้เริ่มเขียนหนังสืออย่างจริงจัง โดยเธอจะประพันธ์งานเขียนของเธอเป็นภาษาอังกฤษ (แล้วจึงค่อยแปลกลับมาเป็นภาษาแดนนิชอีกครั้ง) โดยใช้นามปากกาว่า ไอแซค ไดนีเสน หนังสือเล่มแรกของเธอที่มีชื่อว่า Seven Gothic Tales นั้นประสบความสำเร็จอย่างสูง ตามติดมาด้วย Out of Africa, , The Angelic Avengers (ซึ่งเขียนภายใต้นามปากกาว่า Pierre Andrézel), Writer’s Tales, Last Tales, Anecdotes of Destiny (ที่มีเรื่อง Babette’s Feast รวมอยู่ด้วย), Shadows on the Grass, และ Ehrengard เธอเสียชีวิตในปี 1962

ผลงานของคาเร็น บลิกเซ็น ทุกเรื่องล้วนแสดงให้เห็นถึงพลังแห่งจินตนาการอันกว้างไกลไร้ขอบเขตของเธอทั้งสิ้น ซึ่งจัดว่าเป็นจุดเด่นในงานเขียนของเธออย่างหาใครเทียบได้ยาก งานเขียนของเธอ มักอยู่ในรูปของเรื่องเล่าในรูปแบบของเรื่องสั้นที่มักดึงเอาบางส่วนของนิยายปรัมปรา หรือเศษเสี้ยวของประวัติศาสตร์ยุโรปมาผูกเป็นเรื่องราวเสมอ และมักใช้ธีมที่หม่นมืดของยุคโกธิคมาสร้างเป็นพล็อต เพื่อให้ผู้อ่านค้นหาความหมายในแง่ของปรัชญา และศีลธรรมจรรยาที่ซ่อนอยู่ในนั้น ซึ่งเป็นความตั้งใจของเธอเอง ที่ต้องการให้ผู้อ่านงานเขียนของเธอ ขบคิด ค้นหา และตีความนัยยะที่ซ่อนอยู่ในเรื่องเล่าแบบนิยายปรัมปราของเธอทุกเรื่อง เรียกได้ว่า งานเขียนของเธอ นั้นทั้งเอื้อ และกระตุ้นให้เกิดการตีความได้อย่างมากมาย และต่อเนื่องไม่รู้จบ ถือเป็นเสน่ห์ที่ท้าทายนักอ่านของเธอตลอดมา และเรื่องสั้นของเธอ ถึงได้รับการยกย่องว่าเป็นงานระดับมาสเตอร์อย่างแท้จริง จึงไม่น่าแปลกใจที่ตลอดชีวิตของคาเร็น บลิกเซ็น เธอมีโอกาสเป็นตัวเต็งในการที่จะได้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรมอยู่หลายครั้ง แต่ก็มีอันต้องพลาดไป จนเออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ถึงกับออกปากว่า ตัวเธอนั้นเหมาะสมที่จะได้รางวัลนี้มากกว่าเขาเสียอีก

และด้วยบุคลิกท่าทาง รูปร่างหน้าตา การแต่งกาย และผลงานที่โดดเด่นของเธอ ทำให้คาเร็น บลิกเซ็น ได้รับการกล่าวขานให้เป็นไอคอนคนสำคัญแห่งศตวรรษที่ 20 คนหนึ่งเลยทีเดียว โดยรัฐบาลประเทศเดนมาร์กได้นำรูปภาพของเธอมาพิมพ์บนธนบัตร 50 โครนของเดนมาร์ก และแสตมป์ของเดนมาร์กถึง 2 รุ่น นอกจากนี้ ยังได้ตั้งชื่อดาวเคราะห์น้อย Asteroid 3318 Blixen เพื่อเป็นเกียรติแก่เธอในวันคล้ายวันเกิดครบรอบ 100 ปีของเธออีก และแม้แต่กูเกิลเอง ก็ฉลองวันเกิดครบรอบ 125 ปีให้เธอด้วย Google Doodle ในวันที่ 17 เมษายน 2010

คาเร็น บลิกเซ็นเสียชีวิตในปี 1962 ที่คฤหาสน์ของครอบครัวในเมือง Rungsted ประเทศเดนมาร์ก โดยร่างของเธอถูกฝังไว้ที่นั่น ที่ต่อมา ได้เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ Karen Blixen ให้สาธารณชนเข้าชม เพื่อศึกษางานเขียน และเรียนรู้ตัวตนของเธอ โดยมีไฮไลต์คือห้อง Ewald’s room ที่เธอใช้เขียนหนังสือเป็นส่วนใหญ่ กับสวนด้านนอกที่ประกอบไปด้วยต้นไม้ ดอกไม้หลากหลายพันธุ์ที่ได้รับการดูแลอย่างเอาใจใส่อย่างดี โดยเน้นให้เห็นถึงแนวคิดด้าน ความหลากหลายทางชีวภาพที่เธอโปรดปราน

คลิกเข้าไปชมมิวเซียมของเธอได้ที่นี่ค่ะ

Karen Blixen home in Denmark

 นี่คือแกลอรีรวบรวมรูปของเธอ (รวมถึงรูปบ้านในเดนมาร์ก) ที่เต๋อเก็บรวบรวมไว้ อยากแบ่งปันให้นักอ่านที่ติดตามบล็อก หรือใครก็ตามที่บังเอิญผ่านเข้ามาดูได้รับชมไปด้วยกันค่ะ ทั้งตัวตน และงานเขียนของเธอ ล้วนแต่น่าชื่นชม ยกย่อง และยึดถือเป็นแบบอย่างจริงๆ ❤

และนี่ก็คือรูปภาพของเธอที่ถ่ายโดยช่างภาพชื่อดังในสมัยที่ Studio 54 โด่งดังถึงขีดสุด Peter Beard ถ่ายตอนท้ายๆ ช่วงที่เธอใกล้เสียชีวิตแล้ว

และนี่ก็คือ excerpt หนึ่งในเรื่อง Babette’s Feast (งานเลี้ยงของบาเบตต์) ที่อยู่บนผนังห้องครัวของ Karen Blixen museum ในเดนมาร์กค่ะ (จริงๆเรื่องนี้เธอแต่งเป็นภาษาอังกฤษ แล้วค่อยแปลกลับเป้นภาษาแดนิชอีกที)

ผู้หญิงคนนี้ได้ทำให้การรับประทานอาหารค่ำที่คาเฟ่ อองเกลส์ กลายเป็นเรื่องราวของความรักไปเสียแล้ว เพราะมันคือสัมพันธ์รักระหว่างสิ่งซึ่งสูงส่งกับความโรแมนติกที่หลอมรวมกัน ….

7f485f0d-fbe2-4e94-88a9-bf29063fc4b6

งานเลี้ยงของบาเบตต์ (Babette’s Feast)

ไอแซค ไดนีเสน (Isak Dinesen) ผู้ประพันธ์

รสวรรณ พึ่งสุจริต แปล 

120 หน้า  (200 บาท )

สำนักพิมพ์สมมติ

 

 

Madame Bovary

 

สวัสดีค่า ขึ้นปีใหม่แล้ว แถมยังเป็นปีใหม่ ปีหนูไฟที่มีแต่เรื่องราวต่างๆมากมายถาโถมเข้าใส่โลกเราอย่างไม่หยุดหย่อนมาต้ังแต่ต้นปีอีก ก็เลยคิดว่าอยากเปลี่ยนบรรยากาศ พร้อมปรับอารมณ์ตัวเองด้วยความสละสลวย สวยงามแบบฝรั่งเศส ด้วยวรรณกรรมฝรั่งเศสเรื่องโปรดของตัวเองดีกว่า เพราะอยู่ดีๆก็เกิดคิดถึงมาดามโบวารีเล่มนี้ขึ้นมา ก็เลยหยิบขึ้นมาอ่านเป็นรอบที่สาม ภายในระยะเวลาเกือบ 30 ปี ตั้งแตเริ่มอ่านครั้งแรกเวอร์ชันภาษาไทยที่อจ. วิทย์ ศิวะศรียานนท์แปลจากภาษาฝรั่งเศส ตอนนั้นเต๋อเรียนอยู่จุฬาปี 3  แต่เวอร์ชันที่อ่านรอบที่ 3 นี้  เป็นภาษาอังกฤษนะคะ เป็นชุด Collins Classics หน้าปกก็ตามที่เห็นเลยค่ะ 🙂 ซึ่งอ่านแล้วก็ประทับใจสุดๆ เพราะรู้สึกว่าตัวเองเข้าใจเรื่องราว ตัวตนของมาดามโบวารี และของโฟลแบร์ตเองได้อย่างชัดเจน มากกว่าทุกรอบที่่ผ่านมา เป็นรอบที่สามที่สนุกที่สุด ขำที่สุด ซ้ำยังปวดหัวใจ และสะเทือนใจที่สุดอีกด้วย ❤

205e3fdf-4b79-4115-968e-c39453a3a745

ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณอจ.วิทย์ผู้แปลเรื่องนี้มากค่ะ เพราะมาดามโบวารีภาคภาษาไทยของอจ. เป็นหนังสือที่เปิดโลกการอ่านให้กับเต๋อมากเลย สำหรับเต๋อแล้ว มาดามโบวารี เป็นวรรณกรรมเล่มแรกที่่ดึงเต๋อให้หลุดออกจากกรอบความคิดแบบเดิมๆ การมองโลกแบบเดิมๆที่เราถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เกิด ที่เคยเชื่อกันว่า นางเอกต้องเป็นคนดี เรียบร้อย พระเอกต้องหล่่อ มีเสน่ห์ และเก่งกาจสารพัด ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เลย เพราะมาดามโบวารี แต่งงาน มีลูกและสามีแล้ว แถมยังมีชู้สนั่นอีก 🙂 จำได้ว่าพออ่านจบ หนังสือเล่มนี้ได้เปลี่ยนมุมมองชีวิตของเราไปตลอดกาล ภาษาอังกฤษ ก็ต้องเรียกว่า eye-opener หรือเบิกเนตรเรามาก มันทำให้ความคิดของเราเปิดกว้างจริงๆ จนเต๋อไม่เคยใช้หลักศีลธรรมมาขีดเส้นบังคับใคร หรือตัดสินใครอีกเลย รู้สึก่ว่าตัวเองโชคดีมาก ที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น เรียกว่าได้รู้เดียงสา ก็จากมาดามโบวารีของอจ. วิทย์เลยค่ะ ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เต๋อสนใจ ถึงขั้นหลงไหลวรรณกรรมฝรั่งเศสไปเลย ทำให้เรา explore งานเขียนของวอลแตร์ (Candide, Zadig) บัลซัค (Human Comedy) กามูส์ จนมาสุดที่ In Search of Lost Time ของพรูสต์ไปเลย (เหลือแต่ Victor Hugo เท่านั้นที่ยังไม่ได้รู้จักกันผ่านตัวอักษรแบบจริงจังซักที แ่ต่รักละครเพลง Les Miserables ที่สุด) แต่ส่วนตัวเฉยๆกับเจ้าชายน้อยนะคะ ชอบในระดับหนึ่ง แต่ไม่มากถึงขนาดมีอิทธิพลเปลี่ยนชีวิตเราได้อย่างเล่มที่กล่าวไว้ข้างบน

มาดามโบวารี เป็นเรื่องราวของเอมม่า โบวารี หญิงสาวสวยลูกสาวชาวไร่แห่งหนึ่งในเมืองรูออง ประเทศฝรั่งเศส ที่ชีวิตเหมือนจะดี และเพียบพร้อมแล้ว เพราะได้แต่งงานกับชาร์ล โบวารี ที่เป็นหมอ มีหน้าที่การงานที่มั่นคง แต่จะด้วยความช่างฝัน ความสำรวย รักสวยรักงาม และความฟุ้งเฟ้อของเธอเองหรือเปล่า ที่ทำให้เอมม่าไม่พอใจ และเบื่อหน่ายชีวิตแต่งงานที่แสนจะราบเรียบ ไร้ซึ่งความหรูหรา น่าตื่นตาตื่นใจใดๆ แถมสามีก็ยังน่าเบื่ออีก ประกอบกับเอมม่าเป็นผู้หญิงที่น่ารัก ช่างแตงตัว ฟรุ้งฟริ้งไปหมด เธอสวย และมีเสน่ห์มาก โดยเฉพาะความซื่อที่เป็นเสน่ห์เฉพาะตัวเลย ทำให้มีชายหนุ่มมาติดพัน จนถึงขั้นมีความสัมพันธ์ฉันท์ชู้สาวกันถึง 2 คน (เรียกง่ายๆว่ามีชู้ล่ะค่ะ) จนทำให้ครอบครัวต้องอัปปาง เป็นหนี้สินจนถึงขั้นหมดตัว ตัวเธอเองก็ต้องจบชีวิตลงด้วยน้ำมือของตัวเอง สามีก็เสียใจจนตาย ส่วนลูกสาวก็ต้องยกให้คนอื่นเลี้ยง และมีความเป็นอยู่อย่างลำบากแร้นแค้นไปตลอดชีวิต

และนี่ก็คือความคับแค้นใจของเธอ

Then the lusts of the flesh, the longing for money, and the melancholy of passion all blended themselves into one suffering…. What exasperated her was that Charles did not seem to notice her anguish… Was it not for him, the obstacle to all felicity, the cause of all misery, and, as it were, the sharp clasp of that complex strap that bucked her in on all sides.

เต๋อประทับใจตัวละครเอมม่าสุดๆ โฟลแบร์ตปูพื้นได้ดีมาก มีมิติ อ่านแล้วอิน ทั้งเอ็นดู และเห็นใจนางตามไปด้วยเลย เอมม่าคือต้นแบบของหญิงสาวคาทอลิก ที่เติบโตมาในโรงเรียนคอนแวนต์อย่างแท้จริง เธอโตมากับคณะอุสุลิน (ซึ่งถ้าเป็นเมืองไทย ก็รร มาแตร์) เต๋ออ่านแล้วอินมาก เพราะตัวเองก็เรียนโรงเรียนคอนแวนต์เหมือนกัน (แต่เป็นคณะภคิณี เซนต์ปอล เดอ ชาร์ต ซึ่งเป็นสายฝรั่งเศสเหมือนกัน) ก็เลยพอจะเก็ทความฟุ้ง ความฝันเฟื่อง ความมีจริตก้าน ความรักสวยรักงาม ช่างแต่งตัว ความสำรวยหยิบโหย่ง รวมถึงการทีต้องเติบโตมาในกรอบของโรงเรียนคอนแวนต์ได้เป็นอย่างดี มันเป็นกรอบที่พวกเราอยาก rebel ตลอด (ซึ่งเขาก็มี room และให้ freedom เราให้ rebel ได้ตลอดเหมือนกันนะคะ มันเลยเป็นแค่กรอบ ที่ไม่ได้ครอบงำความคิด ความฝันของเราแต่อย่างใด) เพียงแต่เอมม่าเธอลุกขึ้นมาฉีกกรอบของสังคม จนสร้างความพินาศให้กับครอบครัวได้สุดจริงๆ เป็นตัวละครที่ถ้าใครได้อ่านแล้ว จะไม่มีวันลืมเธอได้ลงเลยละค่ะ

She repeated “I have a lover! delighting at the idea as if a second puberty had come to her. So at last she was to know those joys of love, that happiness of which she had despaired!

จนอยูู่มาวันหนึ่ง ความสวยโดดเด่นของเธอก็ไปต้องตา Rodolphe หนุ่มเพลย์บอย ไฮโซแถวนั้นเข้า ซึ่ง Rodolphe ก็ใช้เล่ห์ชายโฉดล่อลวงเอมม่าให้ตกเป็นของเขาได้ในที่สุด ตอนนี้ เต๋อชอบมากเลย เพราะนอกจากฉากจีบกันในงานเกษตรแฟร์ที่โฟลแบร์ตเขียนเสียดสีได้ตลกมากแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงการที่เอมม่าได้ liberate (ปลดปล่อย) ตัวเองออกจากความเบือหน่ายที่คอยถ่วงรั้งเธอให้จมดิ่งลงไปในความคับแค้นใจกับสภาพครอบครัวจนแทบไม่เห็นทางออก จริงๆเอมม่าหลงรัก Leon ซึ่งเป็นเด็กหนุ่มเสมียนที่มาฝึกงานกับข้างบ้านมาก่อน แต่เธอสะกดกลั้นอารมณ์รักไว้ ไม่ยอมเปิดช่องให้ Leon เข้ามาสานสัมพันธ์ได้เลย ซึ่งตัวเธอเองก็ทุกข์ระทมกับมันมาก เพราะต้องเก็บกดความปรารถนาที่พุ่งพล่านอยู่ข้างในตัวเองไว้ จนมาระเบิดเอากับ Rodolphe ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่ทำให้เธอทั้งมีความสุข และสะใจมากไปพร้อมๆกัน

ยิ่งตอนที่เธอมีชู้แล้ว เอมม่ายิ่งสวยเจิด มีเสน่ห์ และเตะตาเข้าไปอีก เหมือนผู้หญิงที่หาตัวเองเจอแล้ว ว่าจริงๆตัวเองเป็นอย่างไร อ่านแล้วชอบมากเลยค่ะ

Never had Madame Bovary been so beautiful as at this period, she had that indefinable beauty that results from joy, from enthusiasm, from success, and that is only the harmony of temperament with circumstances…..

She was in love with Leon, … the sight of his form troubled the voluptuousness of this mediation.  Emma thrilled at the sound of his step, then in his presence the emotion subsided, and afterwards there remained to her only an immense astonishment that ended in sorrow …

มาลองสัมผัสความรักของเธอที่มีต่อ Leon กันนะคะ โฟลแบร์บรรยายได้ดีมาก อ่านแล้วรับรู้ความรู้สึกของความรักที่ต้องเก็บกดเอาไว้ ไม่รู้ว่ามันจะระเบิดออกมาเมื่อไหร่ รู้เลยว่ามันเกาะกินใจเอมม่ามาก ซึ่งถ้ามองอย่างเป็นธรรม เธอเองก็พยายามสะกดกลั้นแล้ว ถึงกับเข้าวัดเข้าวา หาหนังสืออาน หางานอย่างอื่นมาทำเพื่อสะกดอารมณ์ตัวเอง แม้แต่ตอนที่โชคชะตาชักนำให้กลับมาเจอ Leon อีกครั้ง เอมม่าก็พยายามนัดเจอที่โบสถ์ เหมือนจะพยายามถ่วงเวลา เพื่อเธอจะได้สะกดอารมณ์รัก อารมณ์ปรารถนาของเธอไว้ เพื่อยื้อให้นานที่สุด แต่สุดท้าย ก็หนีความรู้สึกไม้ได้ ต้องยอมจำนนกับแรงปรารถนาที่สุมอยู่ในอกของตนเองในที่สุด อ่านแล้วเข้าใจ และเห็นใจนางมากคะ คือโทษเธอไม่ลงจริงๆ ซึ่งพอได้สมรักกับ Leon แล้ว เอมม่าก็เลยกู่ไม่กลับ ใช้เงินเกินตัว ก่อหนี้สินจนนำไปสู่ความพินาศของครอบครัวในที่สุด อ่านแล้วสงสารชาร์ล – ผู้เป็นสามี กับ แบร์ต (Berthe) ลูกสาวอย่างที่สุด คือไม่รู้จะโทษใครได้ นอกจากโชคชะตาที่ขยันเล่นตลกกับครอบครัวนี้จริงๆ ต้องอ่านให้ถึงตอนจบจริงๆค่ะ ตอนที่ชาร์ลมาเจอกับ Rodolphe (ที่เป็นชู้กับเอมม่าคนแรก แล้วเทนางไป ตอนที่เอมม่าเริ่มคิดจริงๆว่าจะหอบลูกสาวหนีตามกันไป) แล้วบอกกับ Rodolphe ว่าเขาไมโทษ Rodolphe หรอก จะโทษ ก็โทษโชคชะตา หรือเวรกรรมมากกว่า อ่านแล้วน้ำตาร่วงเลยค่ะ สงสารชาร์ลกับลูกสาวมาก ถึงกับรู้สึกหน่วงๆในใจไปหลายวันเลย

“No, I don’t blame you now.”
He even added a fine phrase, the only one he ever made —

“It is the fault of fatality!”

ไม่เพียงแต่เรื่องนี้จะเศร้า และกินใจแล้ว จริงๆเป็นหนังสือที่อานสนุกมากด้วยค่ะ โฟลแบร์ตเขียนเก่งสุดๆ สมเป็นงานระดับปรมาจารย์จริงๆ ถ้าพูดในแง่ของภาษาแล้ว โฟลแบร์ตกล้่นกรองออกมาได้อย่างงดงาม สละสวย สมบูรณ์แบบมากค่ะ ไม่มีคำไหนเลยที่จะเกินเลย หรือหยาบกระด้าง ทุกคำ อ่านแล้วรู้เลยว่าใคร่ครวญมาอย่างดี ได้ทั้งความหมาย และความงดงามของภาษาไปพร้อมกัน สมเป็น perfectionist ด้านภาษาอย่างแท้จริง (ความบรรเจิดเพริดพริ้ง จะเป็นรองก็แต่พรูสต์คนเดียวเท่านั้น) ส่วนในแง่ของอารมณ์ขัน นี่คือตลกมากค่ะ มีตั้งแต่หัวเราะหึๆ ไปจนถึงขำก้ากกก ถึงขนาดอยากติดแฮชแทค #โฟลแบรต์เป็นคนตลก ให้เลย 😀 บางตอนก็สติเฟื่องจนต้องส่ายหัว ยอมใจกับไอเดียบรรเจิดของตัวละครจริงๆ 😉 😀 เป็นวรรณกรรมยุคศตวรรษที่ 19 ที่ทั้งโรแมนติก และ Realist มาก ที่สำคัญ เรื่องนี้ touch ทุกอย่าง ไม้เว้นกระทั่งเรื่องศาสนา และวิทยาศาสตร์ เป็นวรรณกรรมที่มีความเป็นคาทอลิกสูงมาก และยังหัวก้าวหน้ามากด้วยค่ะ (ชอบตอนที่ Homais คุยกับพระ เหมือนคู่กัดกันตลอด)

อีกอย่างที่อยากจะชมคือ สำนวนแปลของ Collins edition เล่มนี้ สุดจริงๆ ส่วนตัวคิดว่าดีกว่าเล่มเพนกวินที่มาโนโลออกแบบเยอะมาก ราคาก็ถูกด้วยค่ะ เต๋อซื้อมาเล่มละ 69 บาทเอง ไม่น่าเชื่อนะคะ แปลดีขั้นสุด (ในฐานะนักแปล ชอบเวอร์ชันแปลเล่มนี้มาก นับถือการเลือกใช้คำเลยค่ะ)

ขอแนะนำให้อ่านกันค่ะ ไม่ผิดหวังจริงๆ อ่านแล้วรู้เลยว่างานเขียนระดับมาสเตอร์มันต้องสุดขนาดนี้ ตอนนี้เต๋อเตรียม Sentimental Education รอไว้เลยค่ะ เพราะเริ่มจะเข้าใจ และติดใจตัวตนของโฟลแบร์ตแล้ว ❤

จริงๆตอนอ่านรอบแรก รู้สึกถึงความคล้ายคลึงกันระหวาง โฟลแบร์ต กับ กีย์ เดอ โมปาสซัง มาเข้าใจจริงๆเอารอบที่ 3 เพราะมาอ่านประวัติของโฟลแบร์ตดู ปรากฏว่าเป็นอาจารย์ของกีย์ เดอ โมปาสซังนี่เอง

มาดามโบวารีมีทำเป็นหนังด้วยนะคะ ซึ่งก็ทำได้ดีพอสมควร เพียงแต่เต๋อยังไม่ค่อยประทับใจคนที่เล่นเป็นเอมม่าสักเท่าไหร่ แต่ Ezra Miller เล่นเป็น Leon ได้หล่อบาดใจมากค่ะ ลองดูรูปนะคะ และก็จะขออวด Madame Bovary ที่ตัวเองเก็บสะสมไว้ด้วยเลย 🙂

แนะนำอย่างที่สุดค่ะ เพราะคนเราควรอ่านวรรณกรรมยุคศตวรรษที่ 19 ไว้สอนใจจริงๆ ❤

Madame Bovary 

by

Gustave Flaubert

Collins Classics Edition

416 pages

 

อ่าน Animal Farm ตามลุงตูบ

 

ตอนอ่านข่าวครั้งแรกถึงกับ ห๊ะ! ถามจริง เอาจริงเหรอตูบ แต่ก็ยังไม่แน่ใจซะทีเดียว ก็เลยต้องเลื่อนกลับไปอ่านเนื้อข่าวอีกรอบ พร้อมกับขยายตรงชื่อเรื่องอีกทีเพื่อให้แน่ใจ ปรากฏว่าตูบเอาจริงค่า มีภาพนั่งอ่านหนังสือประกอบข่าวมายืนยันอีกต่างหาก 555555  ข่าวนี้ทำเอาเต๋อหัวเราะอย่างบ้าคลั่ง  😀 เกิดมาไม่เคยพบเคยเห็นอะไรที่บันเทิงแบบนี้มาก่อน ผู้นำเผด็จการแนะนำให้ประชาชนอ่านหนังสือที่ถือเป็นคัมภีร์รู้ทันเผด็จการ ไทยแลนด์โอนลี่ ประเทศกูมีจริงๆค่ะ มันทั้ง absurd, farce และ surreal มากขนาดต้องขอบันทึกลงบล็อกไว้เป็นความทรงจำชั่วลูกชั่วหลานกันเลย 😀

ไหนๆท่านผู้นำเผด็จการของเราถึงกับลงทุนแนะนำให้อ่าน ประชาชนอย่างเราก็รีบหยิบขึ้นมาอ่านเลยสิคะ จะรออะไร จะได้ตาสว่างกันทั้งประเทศซักที ไหนๆก็ไหนๆแล้ว ควรปลดแบน 1984 ออกให้อ่านคู่กันไปเลย 😉

Animal Farm เป็นหนังสือเสียดสีการเมืองที่ George Orwell เขียนเพื่อแสดงนัยยะถึงความโหดร้าย และเหี้ยมโหดของการปกครองระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จในยุคของสตาลิน ที่สืบเนื่องมาจากช่วงสงครามกลางเมืองของสเปน (ที่เป็นชนวนให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2) ซึ่งเป็นสงครามที่จอร์จ ออร์เวล ได้เข้าร่วมรบด้วย ในช่วงนั้นเขาเลยได้พบเห็นการกวาดล้าง และทำลายทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับ Trotsky ของสตาลินที่กระทำอย่างโหดเหี้ยม ทารุณ โดยในช่วงนั้นรัสเซียมีส่วนในการปกครองประเทศสเปนผ่านทางพรรคคอมมิวนิสต์ (เพื่อสร้างอำนาจทางจักรวรรดินิยม) ซึ่งออร์เวลเองก็โดนหางเลขไปด้วย จนแทบเอาตัวไม่รอด ทำให้เขารู้สึกตื่นตระหนก และตระหนักถึงความโหดร้ายของระบอบเผด็จการสุดโต่งของสตาลิน จนถึงขั้นเขียนออกมาเป็นนวนิยายเล่มนี้

แต่เนื่องจากในช่วงนั้น สตาลินได้สร้างสัมพันธ์อันดีฉันท์มิตรกับอังกฤษ คนอังกฤษส่วนใหญ่ ชื่นชมความเท่าเทียมกันของระบอบคอมมิวนิสต์มาก ซึ่งคนส่วนใหญ่เห็นว่ามันโรแมนติกซะเหลือเกิน ทำให้ไม่มีสำนักพิมพ์ใหนยอมพิมพ์หนังสือเล่มนี้จนกระทั่งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง หนังสือเล่มนี้จึงได้รับการตีพิมพ์ และถูกอ่านอย่างแพร่หลายจนถึงปัจจุบัน ด้วยเนื้อหาด้านการเมืองที่ช้ดเจน และเข้มข้น เมื่อรวมกับ 1984 ทำให้ออร์เวลขึ้นแทนเป็นนักเขียนคนสำคัญแห่งยุคไปอย่างไร้ข้อกังขา (โดยแนวคิดทางการเมืองที่ออร์เวลยึดมั่นมาตลอดชีวิตก็คือ ระบอบสังคมนิยมประชาธิปไตย)

All animals are equal

Animal Farm เป็นเรื่องราวของสิงสาราสัตว์ต่างๆที่อยู่ในฟาร์มของ มิสเตอร์โจนส์ อยู่มาวันหนึ่ง Old Major (ผู้พัน) หมูชรา ที่อยู่ในวัยไม้ใกล้ฝั่งได้เรียกประชุมสัตว์ในฟาร์มทั้งหมด จากนั้นก็ปราศรัยให้สัตว์ทุกตัวเห็นสภาพว่าตัวเองถูกมนุษย์กดขี่อย่างไร พร้อมกับปลุกระดมให้สัตว์ทั้งหลายลุกขึ้นสู้ เพื่อปลดแอกตัวเองออกจากมนุษย์ และสร้างสังคมที่มีอิสรภาพ และความเท่าเทียมกัน จากนั้นไม่นาน หมูผู้พันก็ลาโลกไป

Four legs good, two legs bad

หลังจากนั้นไม่นาน พวกหมูที่ฉลาดกว่าเพื่อน ซึ่งนำโดยนโปเลียน (สตาลิน) กับ สโนว์บอล (ทร็อตสกี้) ได้ทำการวางแผน และดำเนินการปฏิวัติจนสำเร็จ และขับไล่ Mr. Jones ออกจากฟาร์มไป สัตว์ทั้งหมดจึงได้ครอบครองฟาร์มนี้แทน โดยคาแรคเตอร์ของนโปเลียนจะพูดน้อย และเคร่งขรึมกว่า ในขณะที่ Snowball จะมีวาทศิลป์เป็นเลิศ และเต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ นอกจากนี้ ยังมี Squealer (จอม propaganda) หมูคนสนิทอีกตัวที่เป็นตัวละครสำคัญ เมื่อกำจัดมนุษย์ออกไปให้พ้นทางแล้ว พวกสัตว์ก็ปกครองกันเองอย่างอิสระ และได้ตั้งกฏเกณฑ์ในการอยู่ร่วมกัน  7 ข้อ ได้แก่ อะไรที่เดินสองขาถือเป็นศัตรู แต่ถ้าเดินสี่ขา หรือมีปีกถือเป็นมิตร ห้ามสัตว์ใส่เสื้อผ้า นอนบนเตียง กินเหล้า หรือฆ่าสัตว์ด้วยกัน และที่สำคัญคือ สัตว์ทุกตัวเท่าเทียมกัน

All animals are equal, but some animals are more equal than others

แต่ถึงแม้จะออกเป็นกฏว่าสัตว์ทุกตัวเท่าเทียมกัน แต่ความไม่เท่าเทียมกันก็ยังเกิดขึ้นจนได้ โดยเริ่มจากเรื่องเล็กๆน้อยๆ อย่างแอ๊ปเปิ้ลที่ต้องเก็บไว้ให้พวกหมูกิน เพราะถือว่าชั้นสูงกว่าสัตว์ทั้งหมด เป็นมันสมองของฟาร์ม เพราะถ้าไม่มีพวกหมู ฟาร์มก็อาจถูกพวกมนุษย์มายึดคืนเมื่อไหร่ก็ได้ พอเอาไม้นี้มาขู่ ทำให้สัตว์ทุกตัวไม่กล้าหือ ต้องทำตามที่หมูสั่งอย่างเดียว ออร์เวลสร้างคาแรคเตอร์ของนโปเลียน กับ สโนว์บอลให้มี conflict กันตลอดเวลา (แบบที่สตาลิน ขัดแย้งกับทร็อตสกี้) จนกระทั่งวันหนึ่งก็ถึงวันแตกหัก เมื่อสโนว์บอลได้เสนอให้ฟาร์มก่อสร้างกังหันขึ้นมา เพื่อช่วยเพิ่มผลผลิต และผ่อนแรง สัตว์ทั้งหลายจะได้มีเวลาพักผ่อนมากขึ้น นโปเลียนคัดค้านทันที ด้วยความที่ตัวเองแอบซ่องสุมกำลังพลไว้ (เป็นสุนัขที่แสนดุร้าย) จึงได้ขับไล่สโนว์บอลออกไป และยึดครองฟาร์มนี้แต่เพียงผู้เดียว

นโปเลียนปกครองฟาร์มอย่างกดขี่ บังคับให้สัตว์ทุกตัวทำงานหนักจนแทบไม่มีเวลาพักผ่อน ในขณะที่พวกหมูทั้งหลายอยู่กันอย่างสุขสบาย แทบไม่ต้องทำงานอะไร ในที่สุดกฎที่สัตว์ทั้งหมดตั้งไว้ตั้งแต่แรก ก็ค่อยๆเปลี่ยนไปจนสัตว์ทั้งหลายไม่ทันรู้ตัว มารู้ตัวอีกที ทุกอย่างก็ไม่เหมือนเดิมเสียแล้ว แถมยังโดนกดขี่มากกว่าตอนที่อยู่กับมนุษย์เสียอีก แม้แต่เพลง Beasts of England ซึ่งเป็นเพลงที่ใช้ปลุกใจให้เกิดการปฏิวัติก็ถูกสั่งห้ามไม่ให้ร้อง โดยเปลี่ยนเนื้อเสียใหม่ ให้เชิดชูนโปเลียนแต่เพียงผู้เดียว

 

If comrade Napoleon says it, it must be right. Napoleon is always right … I will work harder

และถ้าเกิดข้อผิดพลาดใดๆขึ้นในฟาร์ม นโปเลียนก็จะโทษว่าเป็นฝีมือของสโนว์บอลทันที (แม้จะขับไล่สโนว์บอลออกไปเป็นสิบๆปีแล้วก็ตาม) แถมยังนำไอเดียต่างๆของสโนว์บอลมาทำต่อ และสมอ้างว่าเป็นของตัวเองอีก และถ้าใครคัดค้านขึ้นมาแม้แต่แอะเดียว ก็จะโดนยัดข้อหา และบีบบังคับให้สารภาพว่าเป็นพวกเดียวกับสโนว์บอล ก่อนจะถูกฆ่าตายอย่างทารุณ แม้กระทั่งประวัติศาสตร์ ก็ถูกเขียนใหม่โดยนโปเลียน สร้างภาพให้ตนเป็นสุดยอดผู้นำ ลบล้างคุณงามความดี ความกล้าหาญ ความเสียสละของสโนว์บอลให้หายออกไปจากหน้าประวัติศาสตร์ โดยมี Squealer เจ้าหมูจอม propaganda คอยพูดล้างสมองให้สัตว์ทุกตัวในฟาร์มคล้อยตาม และยอมรับสภาพโดนกดขี่โดยดุษฏี ไม่มีหือ ไม่มีอือ

จนท้ายที่สุด พวกหมูที่ต่อต้านมนุษย์ตั้งแต่แรก ก็กลับมาค้าขายกับมนุษย์และทำตัวเหมือนมนุษย์เข้าไปทุกทีจนแยกแยะแทบไม่ออก และสัตว์ทุกตัวในฟาร์มก็ต้องอยู่แบบยอมจำนน และเผชิญความจริงอันแสนเจ็บปวดต่อไปโดยไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะสิ้นสุดซักที

No question, now, what had happened to the faces of the pigs.  The creatures outside looked from pig to man, and from man to pig, and from pig to man again; but already it was impossible to say which was which.

ความรู้สึกหลังอ่าน ต้องพูดได้เต็มปากว่า หนังสือเล่มนี้ ทำให้ ความไร้เดียงสาทางการเมือง ของเต๋อหายไป เหลือแต่ความจริงที่แสนเจ็บปวดแทนค่ะ จริงๆอ่านเรื่องนี้ตั้งแต่ตอนเด็กๆ แต่ก็ไม่ได้อินอะไรมาก (เพราะแน่นอนว่าเรายังไร้เดียงสาอยู่) พอมาอ่านอีกรอบเมื่อ 10 กว่า ปีที่แล้ว ตอนที่มีชุมนุมของกลุ่มพันธมิตร ก็รู้สึกว่าหนังสือเล่มนี้เหมือนเบิกเนตรเราเลย แต่ก็ยังนึกดีใจที่ประเทศเรายังไม่ถึงขนาดในหนังสือ แต่พอมาถึงตอนนี้ ตอนที่อยู่กับรัฐประหารมา 5 ปีเต็ม ทุกอย่างในหนังสือเล่มนี้มันช่างจริง ช่างชัดเจน และตรงกับสภาพปัจจุบันที่คนไทยทุกคนต้องเผชิญอย่างน่าขนลุก ออร์เวลเขียนได้สุดมากค่ะ เพราะยิ่งอ่านยิ่งชัด ยิ่งอ่านยิ่งอิน และยิ่งอ่านยิ่งเจ็บปวด เข้าใจเลยว่าทำไมประเทศที่มีอารยะ เขาถึงพยายามทุกวิถีทางไม่ยอมให้เผด็จการยึดอำนาจเกิดขึ้น ในขณะที่เรา เราทำให้ประเทศจมดิ่งลงถึงขั้นนี้ง่ายๆแบบนี้ได้อย่างไร T_T จากที่ขำตูบในตอนแรก กลายเป็นจุกจนพูดไม่ออกตอนอ่านหนังสือจบ จากเดิมที่คิดว่าจะอ่าน 1984 ต่อไปเลย คงต้องหยุดพักซักระยะหนึ่ง ให้ความเจ็บปวดในใจมันทุเลาลงก่อน แล้วจึงค่อยหยิบ 1984 มาอ่านต่อ

Animal Farm มีแปลเป็นไทยหลายเวอร์ชั่นมาก รักชอบสำนวนไหน รีบจัดไปค่ะ ขอแนะนำเป็นอย่างยิ่ง

Animal Farm

George Orwell

Penguin Signet Classic 141 pps

สวนสัตว์กระดาษ คาเฟ่ลูส และเดย์ซี มิลเลอร์ จากงานหนังสือครั้งสั่งลาศูนย์สิริกิติ์

 

คิดแล้วก็ใจหายนะคะ เต๋อเองเป็นคนที่ผูกพันกับงานหนังสือมาเนิ่นนาน ตั้งแต่สมัยเป็นนักอ่านอย่างเดียว ก็จะชอบเดินเที่ยวงานหนังสือมาก ไปทีก็มักจะได้หนังสือกลับบ้านหอบใหญ่ทุกครั้ง ยิ่งถ้าได้ไปกับเพื่อนกลุ่มอ่านหนังสือด้วยกัน ยิ่งมีความสุขเข้าไปใหญ่ ทั้งช้อปหนังสือไป คุยกันไป เข้าบู้ธนั้น ออกบู้ธนี้ ซื้อเสร็จก็เอาหนังสือมาอวดกัน หิวก็หาอะไรทาน เม้ามอยกันไป มีความสุขมากค่ะ พอได้ขยับขึ้นมาเป็นนักแปล ยิ่งมีความสุขเข้าไปไหญ่ เพราะงานหนังสือก็คือช่วงเวลาที่ได้เจอบรรณาธิการ นักเขียน นักแปล รวมถึงเพื่อนพ้องในวงการทั้งหลายทั้งปวง ที่สำคัญคือได้ลุ้นยอดขายหนังสือ และได้เจอนักอ่านควบคู่ไปด้วย สนุกมากค่ะ

แต่ก็นั่นล่ะค่ะ ทุกงานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา เมื่อศูนย์สิริกิติ์ถึงคราวต้องปิดปรับปรุง ทำให้งานหนังสือที่จัดปีละสองครั้งเป็นประจำ ต้องย้ายไปจัดที่อิมแพ็คเมืองทองธานีแทน ซึ่งก็แน่นอนว่าเป็นที่ใจหายของคนในวงการทุกคน เพราะศูนย์สิริกิติ์นั้นตั้งอยู่ใจกลางเมือง มีสถานี MRT อยู่ตรงหน้า มันก็เลยสะดวกมาก เมื่อเทียบกับอิมแพ็ค ที่รถติดสนั่น (ขนาดอยู่แถวบ้านเต๋อเอง ถ้าไม่จำเป็นเต๋อยังไม่ไปเลยค่ะ) และถ้าฝนตก แป๊บเดียวน้ำก็จะท่วมอย่างรวดเร็ว คือจบข่าวเลย T^T เมื่อเป็นอย่างนี้ งานหนังสือคราวนี้ ก็เลยดูจะคึกคักเป็นพิเศษ อย่างน้อย พวกบรรดาหนอนๆทั้งหลาย ก็มาร่วมใจช้อปหนังสือสั่งลากันเป็นจำนวนมาก เพราะสำหรับบางคน อาจต้องห่างหายไปถึงสามปี อีกอย่าง ช่วงเวลาสามปีข้างหน้า งานหนังสือจะเป็นยังไง ก็ยังนึกภาพไม่ออกนะคะ ก็คงต้องหวังพึ่งงาน LIT FEST ที่เปิดตัวได้อย่างน่าประทับใจสุดๆตอนต้นปี ไปก่อนละกัน

สำหรับหนังสือที่สอยมาครั้งนี้ มีหลายเล่มมาก ขอเริ่มด้วย 3 เล่มนี้ก่อนละกัน

11cf04aa-554e-42a8-a54e-e70d7ece3b38
สวนสัตว์กระดาษ

สวนสัตว์กระดาษ และเรื่องสั้นอื่นๆ 

ประพันธ์โดย Ken Liu แปลโดย ลมตะวัน สนพ SALT

เป็นเรื่องสั้นแนวแฟนตาซี ไซไฟ ที่เต๋อประทับใจมากถึงมากที่สุดค่ะ ไม่เคยประทับใจหนังสือแนวนี้เท่าเล่มนี้ เพราะมีครบจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นพล็อตที่สุดบรรเจิด ชวนให้ตื่นตะลึง บางเรื่องก็กินใจมาก ขนาดอ่านจบแล้วน้ำตาแทบร่วงก็มี ด้วยความที่เต๋อเห็นว่าเป็นนวนิยายแฟนตาซี ไซไฟ คิดว่าคงอ่านแบบรวดเดียวจบ แต่ที่ไหนได้ กลายเป็นว่าอ่านเรื่องสั้นจบแต่ละเรื่องถึงกับต้องหยุดพัก แล้วค่อยไปต่อ ด้วยความที่มัน intense มาก บางเรื่องก็เศร้า กินใจ ถึงกับน้ำตาไหลก็มี คือมันดีจริงๆ สมแล้วที่ได้รางวัลมานับไม่ถ้วนซะขนาดนี้ ไม่ใช่ได้มาเพราะโชคช่วยแน่นอน เปิดมาเรื่องแรก (อุปนิสัยการทำหนังสือของสิ่งมีชีวิตบางชนิด) ก็ประทับใจแล้วค่ะ แค่ประโยคท่อนฮุคที่ว่า ใครๆก็ทำหนังสือ  ประโยคเดียว แล้วลองดูผลงานการทำหนังสือของสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดที่ยกมานะคะ คืออึ้ง และทึ่งสุดๆ เขียนได้ว้าวมากค่ะ อ่านแล้วถึงกับหัวเราะหึๆ ยอมใจให้กับไอเดียคนเขียนจริงๆ 55555 เล่มนี้ นักแปลแปลเก่งมาก แค่เรื่องแรกเรื่องเดียว ถ้าไม่เก่งจริง เอาไม่อยู่ค่ะ

นอกจากเรื่องแรกแล้ว เรื่องที่เต๋อชอบมากๆ คือเรื่องที่ 4 (นักล่า) เต๋อชอบเรื่องนี้ที่สุดค่ะ มันได้บรรยากาศตั้งแต่หนังจีนกำลังภายใน ยุคโบราณ ไปจนถึงหนังฮ่องกงยุคแปดศูนย์ เก้าศูนย์หน่อยๆ คือเล่าพล็อตให้ฟังไม่ได้เลย ต้องอ่านตั้งแต่ต้นจนจบ แล้วจะรู้ว่าของเค้าดีจริงๆ เรียกว่าเต๋ออ่านตอนจบ แล้วอึ้งอ้าปากค้างไปเลย เขียนได้สุดมากกกกค่ะเรื่องนี้ ❤

อีกเรื่องที่ชอบรองลงมาก็คือ เรื่องสุดท้าย (ชายเจ้าปัญญากับพญาวานร) ที่ถ่ายทอดประวัติศาสตร์ช่วงหนึ่งของจีนไว้ได้อย่างกินใจ ชวนให้นึกถึงหนังฮ่องกงเรื่องหนึ่งที่เต๋อเคยดูตอนเด็กๆ ที่เล่าถึงหมู่บ้านหนึ่งที่โดนญี่ปุ่นบุก แล้วสุดท้าย ไม่ยอมแพ้ ตัดสินใจฆ่่าตัวตายทั้งหมู่บ้าน สำหรับเรื่องนี้ ถึงพล็อตจะไม่เหมือนกันซะทีเดียว แต่ก็หยิบยกเรื่องราวของประเทศจีนสมัยสงครามขึ้นมา และถ่ายทอดความรักชาติ ความเสียสละของคนจีนไว้ได้อย่างลึกซึ้ง กินใจมากค่ะ ลูกจีนทุกคนอ่านแล้วมีน้ำตาไหลแน่นอน

ส่วนเรื่องอื่น ก็ฉีกแนวต่างกันออกไป บางเรื่องมีกลิ่นอายของมูราคามิอยู่จางๆ บางเรื่องก็ออกแนวสืบสวนสอบสวนแบบไซไฟ บางเรื่องก็เกี่ยวกับเทคโนโลยีการสื่อสารล้วนๆ ถึงเต๋อจะไม่ได้กรี๊ดทุกเรื่อง แต่โดยรวมแล้ว ต้องบอกเลยว่าเขียนดีมาก ไอเดียบรรเจิดสุดๆค่ะ

ประทับใจหนังสือเล่มนี้มาก และก็ปลื้มใจมากด้วย เพราะได้ลายเซ็นต์คุณลมตะวันนักแปล เรื่องนี้เป็นเล่มฝากฝีมือนักแปลจริงๆค่ะ แปลเก่งมาก ขอชมจากใจเลยค่า 😀

b84434e2-0734-4f8e-b845-e863e7e922ad
คาเฟ่ลูส เมนูที่รักจากการเดินทาง

คาเฟ่ลูส เมนูที่รักจากการเดินทาง 

ฟุมิเอะ คนโด เขียน กนกวรรณ เกตุชัยมาศ แปล สนพ ซันเดย์อาฟเตอร์นูน

เล่มนี้ก็ชอบอีกแล้วค่ะ ชอบตั้งแต่เห็นหน้าปกเลย 🙂 พอได้อ่านจริงๆก็ยิ่งชอบ หนังสือเกริ่นว่าเป็นแนว cozy mystery ซึ่งก็ cozy จริงๆ อ่านแล้วเห็นภาพคาเฟ่ลูสลอยมาเลยค่ะ เป็นคาเฟ่เล็กๆ ที่ทั้งน่ารัก และน่านั่ง เจ้าของเป็นหญิงสาวหน้าตาดี ใจดี คอยหากาแฟหอมๆ และขนมอร่อยๆ จากทั่วทุกมุมโลก มาเสิร์ฟ ตอนอ่าน รู้สึกเหมือนมีแสงแดดอ่อนๆ ของช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิ สาดส่องขึ้นมารำไรเลย รื่นรมย์มากค่ะ 🙂

คาเฟ่ลูสเป็นเรื่องราวของนาระ เอโกะ สาวออฟฟิศวัย 37 ปี เธอเป็นสาวโสดที่มีความสุขกับการอยู่คนเดียว พอเสร็จจากทำงาน ก็ทำโน่นทำนี่มุ้งมิ้งของเธอไป จนกระทั่งวันหนึ่งเธอได้พบเจอกับคาเฟ่ลูส ซึ่งเป็นคาเฟ่เล็กๆ น่ารักๆ ใกล้บ้าน ที่ขายขนมที่เจ้าของอบเอง ที่เธอได้ไปพบเจอระหว่างการเดินทาง การได้ชิมขนมอร่อยๆจากทั่วทุกมุมโลก ได้เปิดโลกกว้างให้กับเอโกะ จนคาเฟ่ลูสได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเธอไป

เนื้อเรื่องดำเนินไปเรื่อยๆแบบหนังสือญี่ปุ่นเลยค่ะ มีการขมวดพล็อตให้คนอ่านตื่นเต้นบ้าง แต่ไม่มาก คืออ่านได้เรื่อยๆจริงๆ เพลิดเพลินมาก มีความเป็นมูจิสูง คือเรียบง่าย แต่ก็มีความน่าสนใจอยู่ในที เต๋อชอบหนังสือแบบนี้มากค่ะ คือไม่ต้องมีพล็อตอะไรเยอะ แต่แต่ละบท แต่ละตอน มันมีความน่าอ่านด้วยตัวของมันเอง เหมาะมากที่จะนอนขดตัวอ่านบนเก้าอี้โซฟาตัวโปรด ในวันที่ฝนพรำ อะไรแบบนี้เลย ❤

แต่ละบท ก็มีปริศนาให้เราชวนติดตาม พอไม่ให้น่าเบื่อ โดยเฉพาะตอนจบ แอบมีเซอร์ไพรส์ด้วย น่ารักดีค่ะ 🙂

f1582869-d73e-439c-a6d1-35bd61a8ae18
เดย์ซี มิลเลอร์

เดย์ซี มิลเลอร์

เฮนรี่ เจมส์ ประพันธ์ โรเบอต้า เอนกาล็อก แปล สนพ ไลบรารี่ เฮาส์

เป็นเล่มที่ชอบมากอีกเล่มเลย ส่วนตัว เป็นคนที่กริ่งเกรงกับเฮนรี่ เจมส์มาตั้งแต่ไหนแต่ไร มีความรู้สึกว่างานเขียนของเฮนรี่ เจมส์ อ่านค่อนข้างยาก ต้องใช้ความตั้งใจสูง แม้จะอ่านจบแล้ว ก็มีเรื่องชวนให้ขบคิดต่อ ก็เลยรู้สึกดีใจที่เล่มนี้มีแปลเป็นภาษาไทย ช่วยให้เต๋อย่อยงานของเฮนรี่ เจมส์ได้ง่ายขึ้นมากเลยค่ะ

เดย์ซี มิลเลอร์ เป็นเรื่องราวของหญิงสาวชาวอเมริกัน ที่ทั้งสวย และรวยมาก ซึ่งตามแบบฉบับของเศรษฐีชาวอเมริกันที่เป็นเศรษฐีใหม่ทั่วไป เธอและครอบครัวก็เลยนั่งเรือข้ามมหาสมุทรมาท่องเที่ยว พักผ่อนหย่อนใจในแถบยุโรป และได้บังเอิญมาเจอกับคุณวินเทอร์บอร์น ชายหนุ่มอเมริกันจากตระกูลผู้ดีเก่าที่เมืองเวอเวย์ โดยวินเทอร์บอร์นนั้นได้พำนักอยู่ที่เจนีวามานานหลายปี จนพอจะเข้าในธรรมเนียมปฏิบัติของชาวยุโรป และชาวอเมริกันที่อาศัยอยู่ในนั้นได้เป็นอย่างดี พูดง่ายๆก้คือ คุ้นกับความเป็นผู้ลากมากดีของสังคมยุโรปไปแล้ว

ครั้นพอมาเจอเดย์ซี สาวสวยผู้เต็มเปี่ยมไปด้วยชีวิตชีวา ซื่อสัตย์กับตัวเอง เชื่อมั่นในความเท่าเทียมกัน และรักอิสระ ซึ่งพูดง่ายๆว่าเป็นตัวแทนของโลกใหม่ ก็เลยเกิดการ clash กันระหว่างโลกเก่า กับโลกใหม่ ทำให้คนอเมริกันผู้ดีเก่าทั้งหลาย ที่อาศัยอยู่ในยุโรป (และอาจรวมถึงคนยุโรปเองด้วย) เกิดอาการรับไม่ได้ ดูถูกเหยียดหยามเธอ ถึงขั้นตัดเธออกจากสังคมไปเลย เพราะเห็นว่าเธอมีกิริยาไม่งาม ระริกระรี้ไป แถมยังไม่ถือตัว เจ้าชู้ คบคนไม่เลือกอีก จนสุดท้ายเธอต้องจบชีวิตลงอย่างน่าเสียดายด้วยโรคไข้จับสั่น

จริงๆ ถ้าอ่านแต่พล็อต ก็ออกจะดูล้าสมัยไปหน่อยนะคะ แต่สำหรับผู้หญิงสมัยโน้น ในยุคที่ชายเป็นใหญ่ การ quest for independence นี่มันยิ่งใหญ่ และยากเย็นเข็ญใจมากจริงๆ ดังจะเห็นตัวเอกฝ่ายหญิงของนวนิยายจากศตวรรษที่ 19 ที่ต่างล้วนแต่ใฝ่หาเจ้าอิสรภาพที่ว่านี้เหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็น Isabel Archer จาก The Portrait of a Lady ที่ประพันธ์โดยเฮนรี่ เจมส์ เหมือนกัน หรือ Lily ฺBart จาก The House of Mirth ที่ประพันธ์โดย Edith Wharton ซึ่งแต่ละคนมีทั้งโชคดี และโชคร้ายแตกต่างกัน  ถ้าฉลาด โชคดี และเข้มแข็ง ก็จะอยู่รอดแบบ Isabel Archer แต่ถ้าอ่อนแอ ใจอ่อน ก็จะต้องพบจุดจบที่น่าสงสารแบบ Lily Bart แทน

ตัดกลับมาที่ Daisy Miller ของเรากันบ้าง จริงๆถ้าไม่นับเรื่องสังคมชายเป็นใหญ่ของยุคก่อน ไอ้ความ clash ระหว่างโลกเก่า และโลกใหม่มันก็ยังมีให้เห็นอยู่ตลอดนะคะ ซึ่งก็เป็นความคลาสสิคของนวนิยายแนวสัจจนิยม (Realism) ที่สามารถสะท้อนให้เห็นความจริงในทุกยุคทุกสมัย เพราะมาจนถึงปัจจุบัน (เอาง่ายๆ บ้านเมืองเรา) ก็ยังมี clash ระหว่างโลกเก่า กับโลกใหม่ให้เห็นอยู่ตลอด

แต่ที่สำคัญที่สุด ที่ทำให้ตัวละครเดย์ซี มิลเลอร์ ยังคงความอมตะอยู่ตลอด แม้เวลาจะผ่านมาเป็นร้อยๆปีก็คือ ความซื่อสัตย์ต่อตัวเองของเธอ ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนตอนที่เธอปฏิเสธไม่ขึ้นรถม้าไปกับมิสซิสวอล์กเกอร์ โดยพูดว่า

ฉันไม่เคยได้ยินอะไรที่เคร่งครัดขนาดนี้! ถ้านี่เป็นสื่งที่ไม่เหมาะสม ดังนั้นฉันก็ไม่มีอะไรที่เหมาะสมสักอย่าง คุณควรหยุดหวังดีกับฉัน ลาก่อน ขอให้คุณนั่งรถให้สนุกนะคะ!

อ่านแล้วถึงกับลุกขึ้นปรบมือให้ ชอบนางมาก จนไม่อยากให้เดย์ซีตายตอนจบ อยากให้เธออยู่ต่อ แล้วกลับไปอเมริกา ชีวิตเธอคงเป็นสีสันให้กับโลกนี้ได้มากเลยทีเดียว เพราะนางไม่แคร์เวิล์ดของจริง 😀 และถ้านำมาเขียนเป็นนวนิยาย ก็คงจะ timeless พอๆกับเรื่องเดิมแน่นอน ❤

จดหมาย/รัก/หนังสือ จากเกิร์นซีย์

Rambling Rosa

นี่คือสิ่งที่ฉันรักที่สุดเกี่ยวกับการอ่าน สิ่งเล็กสิ่งน้อยในหนังสือเล่มหนึ่งทำให้เราสนใจ และสิ่งเล็กสิ่งน้อยนั้นก็ชักนำเราไปสู่หนังสืออีกเล่ม และสิ่งเล็กสิ่งน้อยอีกเสี้ยวหนึ่งก็พาเราไปยังหนังสือเล่มที่สาม ก้าวกระโดดเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่มีจุดสิ้นสุด และไม่มีเหตุผลอื่นใดนอกจากความสนุกสุขแสนเพียงประการเดียว

หลังจากนั่งเลือกอยู่นานว่าจะเอาหนังสือเล่มไหนมาเปิดศักราชบล็อกของตัวเองดี คิดไปคิดมาควรจะเริ่มด้วยเล่มนี้ดีกว่าเพราะเพิ่งได้ข่าวดีให้ปลื้มใจว่าดัชเชสออฟเคมบริดจ์ (หรือเคท มิดเดิลตั้น) เลือกหนังสือเรื่อง The Guernsey Literary and Potato Peel Pie Society หรือ “จดหมาย/รัก/หนังสือ จากเกิร์นซีย์”ของสำนักพิมพ์กำมะหยี่ ในภาคภาษาไทยที่เต๋อเป็นคนแปล กับเรื่อง When God was a Rabbit ให้เป็นหนังสือน่าอ่านประจำฤดูร้อนนี้ ลองเช็คข่าวตามลิงค์ข้างล่างได้เลยค่ะ

หนังสือเล่มโปรดของ Duchess of Cambridge (Kate Middleton)

อ่านแล้วก็ชวนให้ดีใจมากๆเพราะหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่คนแปลชอบมากๆเลย ยิ่งมีเจ้าสาวที่โด่งดังที่สุดในโลกออกโรงการันตีขนาดนี้ ก็ได้แต่ดีใจเป็นที่สุด ^_^ ด้วยความที่เป็นคนชอบอ่านหนังสือ กับเขียนจดหมายเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว การได้แปลหนังสือเล่มนี้ถือเป็นความสุขมากเลยค่ะ ขนาดแปลใกล้จบแล้ว ยังดึงต่ออีกหน่อย เพราะไม่อยากจบเร็ว อิอิ

9f926bc5-dcf5-473c-af66-28eff31895c6 จดหมาย/รัก/หนังสือ จากเกิร์นซีย์

สงสัยจังว่าหนังสือเล่มนี้เดินทางไปถึงเกิร์นซีย์ได้อย่างไร บางทีอาจเป็นสัญชาตญาณลี้ลับในการหาที่อยู่ของพวกหนังสือที่นำมันไปหานักอ่านที่คู่ควร

แต่ไหนๆเกริ่นมายืดยาวแล้ว ก็น่าจะบอกเล่าเรื่องราวย่อๆของหนังสือเล่มนี้ให้คนที่ผ่านไปมาได้รับทราบหน่อยนะคะ จดหมาย/รัก/หนังสือ จากเกิร์นซีย์เป็นเรื่องราวของจูเลียต แอชตัน นักข่าวสาวคนเก่งที่จู่ๆก็ได้รับจดหมายจากหนุ่มแปลกหน้าขี้อายชื่อดอว์ซีย์ อดัมส์ที่อยู่ไกลถึงเกาะเกิร์นซีย์ซึ่งเป็นหมู่เกาะในช่องแคบอังกฤษที่เขียนถามข้อมูลเกี่ยวกับหนังสือ ด้วยความที่เขาไปซื้อหนังสือเก่าเล่มหนี่งซึ่งเป็นของเธอมาก่อน (น่ารักเนอะ) อ่านไปอ่านมาเกิดติดใจ เลยเขียนจดหมายมาถามนางเอกว่าพอจะหาซื้อหนังสือเล่มอื่นของคนเขียนคนนี้ได้ที่ไหนในลอนดอนบ้าง เพราะตอนนี้เป็นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เกาะเกิร์นซีย์ถูกพวกเยอรมันยึดครอง ร้านหนังสือกับหนังสือดีๆถูกทำลายเรียบ ไม่เหลือเลยสักเล่ม และด้วยความรักในหนังสือเหมือนกันแบบนี้ ทำให้ท้ังคู่เขียนจดหมายหากันตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

แต่ท่ามกลางห้วงน้ำแห่งความทุกข์ เรามีเกาะเล็กๆแห่ง – ความหวังไม่ใช่หรือ หรือจะเป็นความสุข หรืออะไรคล้ายๆแบบนั้นอยู่บ้าง

แต่สิ่งที่ทำให้นางเอกสนใจความเป็นไปของผู้คนในเกาะเกิร์นซีย์ก็คือการที่ดอว์ซีย์เขียนเล่าเรื่องราวความเป็นมาของ สมาคมวรรณกรรม และพายเปลือกมันฝรั่งแห่งเกิร์นซีย์ ซึ่งความน่ารัก และความใสซื่อของชื่อสมาคมทำให้นางเอกของเราสนใจขึ้นมาทันที โดยดอว์ซีย์เล่าต่อว่าสมาคมชื่อประหลาดนี้เกิดขึ้นในวันที่ผู้คนในเกาะเกิร์นซีย์แอบกินหมูย่างกันอยู่ แล้วโดนพวกเยอรมันจับได้ ทำให้ต้องอุปโลกย์ว่าพวกตนกำลังนั่งเสวนาเรื่องหนังสือกันกับเหล่าสมาชิกสมาคมที่มีชื่อยาวเหยียดนี้ ปรากฎว่าพวกเยอรมันดันเชื่ออีก และสนใจสมาคมที่ว่านี้มาก พวกที่ละเมิดเคอร์ฟิวทั้งหลายเลยต้องตกกระไดพลอยโจนจัดตั้งสมาคมวรรณกรรมที่ว่านี่ขึ้นมาทันที ต่างคนต่างพยายามควานหาหนังสือที่พอจะมีติดบ้านมาอ่านกันใหญ่ ด้วยความกลัวพวกเยอรมันจะเล่นงาน

เอลิซาเบธเป็นเพื่อนของฉัน และในสถานที่แห่งนั้น มิตรภาพคือสิ่งเดียวที่ช่วยให้เราคงความเป็นมนุษย์อยู่ได้

การที่ต้องอ่านหนังสืออย่างจำยอมในตอนแรก ทำให้เหล่าสมาชิกในสมาคมอึดอัดกันไม่น้อย แต่พอเวลาผ่านไป พร้อมกับจำนวนหนังสือดีๆมีคุณค่าที่ได้อ่านเพิ่มมากขึ้น ทัศนคติและการมองโลกของผู้คนในนั้นเริ่มเปลี่ยนไป และทุกคนก็เริ่มรู้สึกว่าหนังสือ และมิตรภาพที่งอกงามขึ้นจากหนังสือ และการอ่านนั้น ทำให้พวกเขาทั้งหมดสามารถผ่านช่วงเวลาอันแสนโหดร้ายของสงครามโลกครั้งที่สองมาได้

หนังสือ จดหมาย/รัก/หนังสือ จากเกิร์นซีย์ เล่มนี้ ไม่เพียงแต่เป็นหนังสือที่ถ่ายทอดเรื่องราวของความรักระหว่างชายหญิง (ซึ่งก็คือพระเอก กับนางเอกในเรื่อง) ที่ทำออกมาได้น่ารัก และหวานละมุนใจมาก แต่ยังแสดงให้เห็นถึงมิตรภาพในยามยาก คุณค่าของการอ่าน อิทธิพลของหนังสือดีๆที่มีต่อชีวิตคนเรา รวมถึงเกร็ดประวัติศาสตร์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และความเลวร้ายของสงครามที่คนสมัยนั้นต้องเผชิญ ด้วยโทนเรื่องที่อบอุ่น ละมุนมาก ทั้งยังสอดแทรกไปด้วยอารมณ์ขันน่ารักๆ ทำให้คนอ่านไม่รู้สึกหดหู่ไปกับสงคราม แต่ได้ความรู้ด้านเกร็ดประวัติศาสตร์กลับมาอีกเพียบเลยค่ะ

ดอว์ซีย์พูดน้อยที่สุด แต่พาไปดูสิ่งที่แสนอัศจรรย์ – อย่างโบสถ์เล็กๆหลังนั้น เขาจะยืนอยู่ข้างหลัง ปล่อยให้ฉันชื่นชมความงามของมันอย่างเต็มที่

สำหรับใครที่ชอบอ่านหนังสือ เขียนจดหมาย (คนชอบเขียนจดหมายต้องกรี๊ดแน่ๆ เพราะเล่มนี้ผูกเรื่องโดยการเขียนจดหมายหากันทั้งเล่ม)  และสนใจเรื่องราวในประวัติศาสตร์ ก็อยากจะขอแนะนำให้อ่านหนังสือเล่มนี้ค่ะ เพราะจะอ่านด้วยความอิน เหมือนที่คนแปล แปลด้วยความอิน และมีความสุขสุดๆ

เธอต้องตัวสูงประมาณหนูคิตนะถึงจะมองโลกใบนี้ได้พอดี แกเก่งมากในการมองเห็นอะไรต่ออะไรที่ฉันไม่ทันสังเกต – ผีเสื้อ แมงมุม ดอกไม้จิ๋วๆที่ขึ้นอยู่ตามพื้นดิน ซึ่งยากจะเห็นเวลามีดอกฟูเซีย หรือดอกบูกาเวียแข่งกันบานเป็นดงอยู่ตรงหน้า

ขอให้อ่านอย่างมีความสุขนะคะ 🙂 ❤

อัพเดทล่าสุด

จดหมาย/รัก/หนังสือจากเกิร์นซีย์ 

View original post 109 more words

ราชินีนักอ่าน – The Uncommon Reader ชวนให้หลงเสน่ห์ของการอ่าน เพราะนักอ่านทุกคนเท่าเทียมกัน

 

ด้วยความที่ตัวเต๋อเองเป็นคนรักการอ่านอย่างยิ่งยวด ถึงขั้นสุด เรียกว่าพูดได้เต็มปากเลยว่าการอ่านคือ  my one and only passion ถึงขนาดอดข้าวก็ยอม ขอแค่มีหนังสือดีๆให้อ่าน 😀 และจากประสบการณ์ส่วนตัวของการเป็นนักอ่านมาตลอดชีวิตนี่เอง ทำให้เต๋อเชื่อมั่นมาตลอดว่าการอ่านมันเปิดโลกทัศน์ของเราให้กว้างไกลจริงๆ โดยเฉพาะการอ่านหนังสือประเภทวรรณกรรม (หรือ literature) ฉะนั้น พอมีสำนักพิมพ์ หรือบรรณาธิการเปิดโอกาสให้แปลงานที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ หรือการอ่านหนังสือ เต๋อจะรีบตอบรับทันที และดีใจจนแทบกระโดดตัวลอยทุกครั้ง เพราะมันคือ สิ่งที่ใกล้เคียงกับตัวเอง และหัวใจตัวเองมากที่สุด เพราะนักอ่านอย่างพวกเราย่อมรู้ดีว่าการอ่านหนังสือมันช่างดีงาม และเพิ่มพูนคุณค่าให้กับชีวิตมากมายขนาดไหน จนอยากเชิญชวนทุกคนให้หันมาอ่านหนังสือกันเยอะๆเลยค่ะ 🙂

เจ้าต้องไม่ฝากชีวิตไว้กับหนังสือ แต่จงหามันในนั้น

และหนึ่งในหนังสือเล่มที่ว่านั้นก็คือหนังสือเรื่อง ราชินีนักอ่าน  ที่ประพันธ์โดย อลัน เบนเน็ตต์ นักประพันธ์ชาวอังกฤษ เล่มนี้เต๋อแปลไว้นานหลายปีแล้วกับสำนักพิมพ์อื่น แต่จู่ๆก็โชคดีที่สำนักพิมพ์ Bookmoby Press มองเห็นคุณค่าหยิบขึ้นมาปัดฝุ่น และจับแต่งตัวซะใหม่ เปลี่ยนลุคให้น่ารัก น่าหยิบจับขึ้นมาอ่านเลยจริงๆค่ะ ต้องขอบคุณน้องที่ออกแบบปกมาก ทำออกมาน่ารักสุดๆเลยค่ะ ❤

เสน่ห์ของการอ่าน อยู่ที่ความเป็นกลางของมัน มีบางอย่างที่สูงส่งในเนื้อวรรณกรรม แต่หนังสือไม่ได้สนใจว่าใครอ่านมันอยู่ หรือว่าเราอ่านมันหรือไม่ นักอ่านทุกคนเท่าเทียมกัน รวมทั้งพระองค์ด้วย

ราชินีนักอ่าน เป็นเรื่องแต่งนะคะ และก็เป็นนวนิยายขนาดสั้นด้วย ที่ผูกเรื่องโดยใช้ควีนเอลิซาเบธที่สองแห่งสหราชอาณาจักรเป็นตัวเดินเรื่อง โดยสร้างสถานะการณ์ให้จู่ๆพระองค์เสด็จฯไปพบกับห้องสมุดเคลื่อนที่ประจำเมืองเวสต์มินสเตอร์เข้า ก็เลยได้ทรงพบปะกับคุณฮัทชิงส์ที่เป็นเจ้าของห้องสมุด และนอร์มัน ลูกค้าหนึ่งเดียวของห้องสมุด ที่กำลังค้นหาหนังสือง่วนอยู่ ด้วยความที่เกรงว่าจะเสียมารยาท และอาจทำให้คุณฮัทชิงส์รู้สึกไม่ดี พระองค์จึงทรงขอยืมหนังสือไปลองอ่านเล่มหนึ่ง ซึ่งเป็นนวนิยายของไอวี คอมป์ตัน-เบอร์เน็ต

พระองค์ยังทรงพบว่าหนังสือเล่มหนึ่งนำไปสู่หนังสืออีกเล่มได้อย่างไร และไม่ว่าพระองค์จะผินพระพักตร์ไปทางไหน พระทวารก็จะเปิดกว้างสำหรับพระองค์เสมอ จนวันวารที่มีนั้นไม่ยาวนานพอให้ทรงพระอักษรได้ตามพระทัยอีกต่อไป

และจากนวนิยายของไอวี คอมป์ตัน-เบอร์เน็ต ที่อ่านค่อนข้างยากเล่มนี้เอง ได้นำพระองค์ไปสู่หนังสือเล่มอื่นอีกมากมาย รวมถึงนำพาพระองค์ให้รู้จักนักประพันธ์ชื่อก้องโลกทั้งหลายทั้งปวงอีกด้วย สิ่งที่เต๋อชอบมากๆในหนังสือเล่มนี้ ก็คือพัฒนาการในการอ่านของควีน จากที่แทบจะไม่รู้จักหนังสือดีๆ หรือนักเขียนคนไ่หนเลย แค่หนังสือที่พระองค์ยืมจากห้องสมุดเพียงเล่มเดียว ทำให้พระองค์เกิดความกระหายใคร่รู้ และมีความมุ่งมั่นที่จะอ่านหนังสืออย่างไม่ท้อถอย ค่อยๆไต่ระดับการอ่านขึ้นไปเรื่อยๆ ตั้งแต่  ฌอง เฌอเนต์ เจ อาร์ แอคเคอร์ลีย์ อี เอ็ม ฟอร์สเตอร์ โธมัส ฮาร์ดี้ พี่น้องบรองเต้ เจน ออสเตน เฮนรี่ เจมส์ หรือนักเขียนรางวัลบุ๊กเกอร์อย่าง อนิตา บรุคเนอร์ เอียน แมคอีวาน และนักเขียนรางวัลโนเบลอย่าง อลิซ มันโร หรือคาซุโอะ อิชิกุโร่ จนในที่สุดพระองค์ก็สามารถอ่าน In Search of Lost Time (หรือ Remembrance of Things Past) ของพรูสต์จบทั้ง 8 เล่ม ซึ่งสำหรับเต๋อถือว่าควีนพัฒนามาจนถึงระดับสูงสุดของการเป็นนักอ่านค่ะ 🙂

ซึ่งหนังสือ และนักเขียนที่อ้างถึงในหนังสือเล่มนี้ ล้วนแต่เป็นวรรณกรรมที่ดีงามมาก ควรค่าแก่การอ่านทุกเล่มเลยค่ะ จะเห็นได้จากการเปลี่ยนแปลงนิสัยใจคอของควีนหลังจากได้อ่านหนังสือพวกนี้ ผู้แต่งแสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงเห็นใจ และมีความเข้าอกเข้าใจผู้อื่นมากขึ้น (รวมถึงการหักมุมในตอนจบที่อ่านแล้วขำ แทบตกเก้าอี้ นึกไม่ถึงว่าพี่แกจะเล่นแบบนี้ด้วย 555) เต๋อในฐานะคนแปล ก็อยากแนะนำให้ผู้อ่าน ราชินีนักอ่าน ทุกท่านที่สนใจ ได้ลองหามาอ่านดูบ้างทุกเล่มนะคะ ถึงบางเล่มจะอ่านยากอยู่สักนิด แต่ถ้าเราตั้งใจ ย่อมพิชิตมันได้แน่นอนค่ะ ❤

วรรณกรรมในความคิดของเรา คือประเทศอันแสนกว้างใหญ่ที่เราไม่เคยเดินทางไปถึงพรมแดนของมัน และการที่เราเริ่มเอาเมื่อสายเกินไปเช่นนี้ เราเลยไม่มีทางตามมันได้ทัน

นอกจากหนังสือที่กล่าวถึงในเล่มแล้ว สิ่งที่เต๋อชอบอีกอย่างของหนังสือเล่มนี้ ก็คือการที่ผู้แต่งเอาควีนมาล้อเลียน เสียดสี ซึ่งก็ทำได้อย่างตลกขบขัน แถมยังน่ารักอีกด้วย บางตอน เต๋อแปลเองยังถึงกับหัวเราะออกมาดังๆ 😀 ซึ่งเรื่องนี้ (สำหรับประเทศอังกฤษ คงไม่แปลกอะไร เพราะระบอบกษัตริย์ของเขา พัฒนาก้าวไกลขนาดเอาราชวงศ์มาล้อเลียนได้จนเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว 😀 ) อาจแปลกใหม่สำหรับประเทศเราอยู่บ้างนะคะ แต่ถ้าอ่านแบบเปิดใจ เต๋อก็ว่ามันขำๆดี 😉

การอ่านทำให้คนเรานุ่มนวลขึ้น ในขณะที่การเขียน ส่งผลในทางตรงกันข้าม การจะเขียนหนังสือได้นั้น คุณต้องทั้งแกร่งและอดทน

แต่สิ่งที่ชอบที่สุดของหนังสือเล่มนี้ ก็คือ quote ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ และการอ่านหลายโคว้ทเลย ที่เต๋อเห็นว่ามันโดนใจมาก 😀 จริงๆหนังสือเล่มนี้ เป็นหนังสือแปลของตัวเอง ที่มีคนหยิบยกข้อความโดนๆในหนังสือมาโคว้ทต่อเยอะที่สุดเลยนะคะ ตั้งแต่ตอนพิมพ์ครั้งแรกแล้ว เป็นอะไรที่คนแปลชื่นใจ และภูมิใจมาก โดยโคว้ทที่เด๋อว่าโดนสุด และชอบสุดก็คือโคว้ทที่บอกว่านักอ่านทุกคนเท่าเทียมกัน ซึ่งเต๋อว่าจริงมาก เพราะไม่ว่าจะเป็นใครมาจากไหน จะยากดีมีจนอย่างไร การอ่านหนังสือมันทำให้คนเราเท่าเทียมกันจริงๆ เพราะฉะนั้น ใครที่อยากอ่านหนังสือ ก็อย่าผัดวันประกันพรุ่งต่อไปอีกเลยนะคะ เพราะหนังสือดีๆในโลกนี้มีมากมายเกินกว่าจะอ่านได้หมดจริงๆ ยิ่งช้า จะยิ่งไล่ตามอ่านไม่ทันนะเออ ❤

หนังสือไม่มีการโอนอ่อนผ่อนตาม นักอ่านทุกคนเท่าเทียมกัน ….. มันไร้ซึ่งชื่อเสียงเรียงนาม มันถูกแบ่งปัน มันเป็นของร่วมกัน …

img_0105
ราชินีนักอ่าน (The Uncommon Reader)

ราชินีนักอ่าน (The Uncommon Reader) 

อลัน เบนเน็ตต์ เขียน

รสวรรณ พึ่งสุจริต แปล 

สำนักพิมพ์ Bookmoby Press

147 หน้า ราคา 200 บาท 

 

Waiting for the Dark, Waiting for the Light – บันทึกการเปลี่ยนผ่านของสาธารณรัฐเช็กในช่วง Velvet Revolution

บางครั้งการหยิบหนังสือขึ้นมาอ่านซักเล่ม ก็ไม่ได้มีสาเหตุอะไรมาก นอกจากความบังเอิญ 😀 ด้วยความที่อยู่ดีๆ อยากลุกขึ้นมาจัดตู้หนังสือใหม่ ทำให้เต๋อเจอหนังสือเล่มนี้ซ่อนตัวอยู่ในซอกหลืบที่ลึกสุดของตู้ ในสภาพใหม่เอี่ยมอ่อง ครั้นลองพลิกหน้าปกดู ก็พบว่าตัวเองซื้อมาตั้งแต่ปี 1997 นู่น คือยาวนานมาก จำได้แต่เพียงรางๆว่าชอบ และประทับใจในระดับหนึ่ง แต่เนื้อหาที่แท้จริงจะเป็นอย่างไรนั้น คงต้องหยิบขึ้นมาอ่านอย่างจริงจังอีกซักรอบ

แต่ที่จำได้แม่นก็คือตอนนั้น เป็นช่วงที่เต๋อกำลังอินเลิฟกับงานเขียนของ Milan Kundera อย่างสุดๆ เพราะประทับใจเล่ม Unbearable Lightness of Being ของเขามาก จนต้องหาเล่มอื่นมาอ่านเพื่อดับความอยาก ซึ่งก็ชอบเกือบทุกเล่มนะคะ คืออ่านได้เรื่อยๆ แค่รู้สึกตะหงิดนิดๆ ว่าเล่มหลังๆที่คุนเดอร่าเขียนเป็นภาษาฝรั่งเศสนั้น ดีงามสู้เล่มก่อนๆที่เขียนด้วยภาษาเช็กไม่ได้ ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้เต๋ออยากลอง explore งานเขียนของนักเขียนเช็กท่านอื่น (ที่ไม่ใช่คาฟกาบ้าง 😀 – ไม่ใช่ไม่ชอบคาฟกานะคะ แต่อยากอ่านอะไรที่มันร่วมสมัยบ้าง เปลี่ยนบรรยากาศ) ก็เลยมาลงเอยที่หนังสือเล่มนี้ ยิ่งหนังสือพิมพ์ NYTimes จัดให้เป็น Notable Book of the Year ด้วย ก็เลยยิ่งมั่นใจว่าน่าจะดี 🙂

Waiting for the Dark, Waiting for the Light เป็นหนังสือที่บอกเล่าเรื่องราว และสะท้อนสภาพสังคมของประเทศเชคโกสโลวาเกีย ในช่วง Velvet Revolution ได้อย่างชัดเจนชวนให้หดหู่ใจ 😢 ซึ่งก็คือช่วงเปลี่ยนผ่านจากการปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ (หรือ Totalitarian ที่ปกครองโดยพรรคการเมืองพรรคเดียวมาตลอด 41 ปี) มาเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตย และแตกออกเป็น 2 ประเทศคือ สาธารณรัฐเช็ก และประเทศสโลวาเกียอย่างในปัจจุบัน

ตอนอ่านครั้งแรก ยอมรับเลยว่าไม่อิน และไม่ค่อยเข้าใจแก่นแท้ของเรื่องเท่าไหร่ อาจเป็นเพราะ อ่านตอนช่วงที่บ้านเมืองยังอยู่ในภาวะปกติอยู่ ก็เลยไม่เก็ทว่าคนที่มีชีวิตอยู่แบบโดนกดหัว ไร้ซึ่งสิทธิเสรีภาพนั้น มันขมขื่นขนาดไหน มาเข้าใจอย่างลึกซึ้งก็เมื่อ 21 ปีให้หลังนี้เอง 😰

เนื้อเรื่องในหนังสือ เป้นการบอกเล่าเรื่องราวของ Pavel Fuka ช่างภาพคนนึง ที่เคยคิดจะหนีออกนอกประเทศ เพราะทนสภาพการปกครองแบบลัทธิคอมมิวนิสต์ไม่ไหว เขากับปีเตอร์เพื่อนสนิทจึงวางแผนที่จะฝ่ารั้วลวดหนามที่กั้นพรมแดนระหว่างประเทศออกไป เพื่อไปตายเอาดาบหน้าที่อื่น ซึ่งก็แน่นอนว่าไม่สำเร็จ ทั้ง Pavel และ Peter จึงถูกตำรวจตระเวณชายแดนจับกุมตัว และถูกจำคุกในที่สุด

พอออกมาได้ ทั้ง Pavel และ Peter ต่างก็แยกย้ายไปมีชีวิตของตน โดย Pavel ทำงานเป็นตากล้องให้กับสถานีโทรทัศน์ของรัฐบาล ต้องกล้ำกลืนฝืนทน ทำหน้าที่ผลิตภาพยนตร์ propaganda ให้รัฐบาลเพื่อหาเลี้ยงตัวเองไปวันๆ ซึ่งเขาก็ประสบความสำเร็จพอควร ในขณะที่ปีเตอร์ ยังคงยึดมั่นอยู่กับอุดมการณ์เดิม เขาแต่งงานกับ Alice เพื่อนสาวร่วมอุดมการณ์ และหลบไปสร้างครอบครัวเล็กๆ โดยทำงานเป็นผู้ดูแลปราสาทแห่งหนึ่งแถบชานเมือง

Ivan Klima เขียนเรื่องนี้ได้ดีมากค่ะ มีวิธีการเล่าเรื่อง และเดินเรื่องได้อย่างน่าสนใจ โดยมีลักษณะของการซ้อนเหลื่อมกันระหว่างชีวิตจริงของ Pavel และ ภาพยนตร์ที่เขาตั้งใจจะถ่ายทำแบบนี้ตลอด จนแยกแทบไม่ออก มันจะมีความอึมครึม หม่นมัว และ obscure อย่างนี้ไปทั้งเรื่อง (ต้องใช้สมาธิ และตั้งใจอ่านพอสมควร ไม่งั้นจะเริ่มงง ว่าตอนไหนเรื่องจริง ตอนไหนคือหนัง) ระหว่างนั้น ก็จะมี sub-plot แทรกเข้ามาเป็นระยะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการถ่ายทำภาพยนตร์ propaganda ของ Pavel  ที่โรงงานทำระเบิด หรือสภาพชีวิตในช่วงท้ายๆของผู้นำที่เข้าสู่สภาพถดถอยอย่างเต็มตัว (ประมาณ Autumn of the Patriarch ภาคเช็ก) หรือช่วงที่ประชาชนออกมาเดินขบวนประท้วงรัฐบาลจนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ทั้งหมดนี้ ล้วนแต่สะท้อนให้เห็นความคับแค้น ขมขื่น และสิ้นหวังของผู้คน จนบางคนต้องตัดสินใจทำอะไรบางอย่างที่นำใปสู่จุดจบอันน่าเศร้าของตน และผู้คนรอบข้าง นอกจากนี้ ยังแสดงให้เห็นถึงความเสื่อมโทรม และความพังพินาศของเชคโกสโลวาเกียภายใต้ลัทธิคอมมิวนิสต์ได้อย่างถึงแก่น อ่านแล้วทั้งหดหู่ และสลดใจมากค่ะ 😢

หรือแม้แต่ช่วงที่ปลดแอกจากคอมมิวนิสต์แล้ว ก็ยังมีปัญหาอีกหลายเรื่องให้เผชิญ และถ้ายังปรับตัวไม่ได้ ก็ต้องขมขื่นต่อไป คือทุกอย่างที่เขียนนี่ Nobel Prize material ทั้งนั้นเลย จริงๆถ้า Ivan Klima จะมีชื่อติดโผพวกนักเขียน contender ของรางวัล Nobel prize for literature ก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะทุกอย่างที่เขียนนี่ล้วนแต่ชวนให้คนอ่านขบคิดต่ออีกหลายข้อทีเดียว

ซึ่งก็แน่นอนว่า ทุกการเปลี่ยนผ่าน ก็ไม่ใช่อะไรที่ง่ายเสมอไป เพราะความเจ็บปวด ขมขื่น ที่ฝังรากลึกมานาน นั้นยากที่จะเยียวยาให้เป็นปกติได้ บางคนจึงต้องอยู่อย่างมีความทุกข์เกาะกินใจตลอดไป ……

ความรู้สึกหลังอ่าน ประทับใจมากค่ะ ขนาดเล่มธรรมดา เบๆ ของเขา ยังชวนให้เราขบคิดได้ถึงขนาดนี้ คงต้องไปหาเล่มอื่นของเขามาอ่านอีกแน่นอน ตอนนี้ก็กำลังเล็ง Love and Garbage กับ The Spirit of Prague มาอ่านต่ออยู่ค่ะ เขียนดีสมกับเป็นนักเขียนระดับแนวหน้าของ Czech Republic จึงไม่น่าแปลกใจที่ Philip Roth จะชื่นชม Ivan Klima มาก ขนาดเอามาเขียนในหนังสือเรื่อง I Married a Communist ของเขาเอง ซึ่งถ้าเต๋อมีเวลา ต้องหามาอ่านแน่นอน

เทียบกับงานเขียนของ Milan Kundera อ่านงานเขียนของ Klima แล้ว คุนเดอร่านี่ขวัญใจมหาชนมากค่ะ ความซีเรียส ความจริงจังห่างไกลกันลิบลับมาก เทียบกันแล้ว คุนเดอร่านี่โคตรป๊อปเลย 😀

Out of the fog that shrouded the countryside, softening the outlines of people and things, demonstrators emerged, flags waved and speakers rose spontaneously to address spontaneous gatherings. Mostly they were people who had not been allowed to speak for years. They clambered on to piles of rock, balanced on the rims of fountains and on pedestals of statues whose removal they demanded, just as they demanded the removal of those who had bowed down before these statues. They spun visions of how everyone’s life, including Pavel’s own, would quickly be transformed and rise above the poverty in which it had for so long been mired. Others, who preferred actions to words, climbed onto rooftops to remove the snow-covered symbols of yesterday’s power. They pulled down street signs and fastened in their place new plaques scrawled with names that until recently had been unmentionable, and they sometimes gathered threateningly under the windows of abandoned Party secretariats, ready to break in and begin, or rather complete, the purging. In every face he saw a kind of ecstasy that looked almost sexual.

img_8282Ivan Klima เกิดเมื่อปี 1931 ที่กรุงปราก เขาเป็นนักเขียนชาวเช็กที่เคยผ่านประสบการณ์อยู่ในค่ายกักกันชาวยิวมาก่อน อีกทั้งงานเขียนยังถูกแบนอยู่หลายปี จนต้องตีพิมพ์นอกประเทศ Ivan Klima จัดเป็นนักเขียนระดับแนวหน้าคนหนึ่งของสาธารณรัฐเช็ก และได้รับรางวัลด้านวรรณกรรมอันทรงเกียรติอาทิ รางวัล Magnesia Litera และ Franz Kafka Prize ผลงานเขียนของเขาได้แก่เรื่อง A Ship Named Hope, My Merry Mornings, Judge on Trial, Love and Garbage, The Spirit of Prague เป็นต้น

Waiting for the Dark, Waiting for the Light

by

Ivan Klima 

234 pages

Picador USA

Lobster & Burger ที่รร. The St. Regis Bangkok

ช่วงนี้ชีวิตติดโปรมากค่ะ 😀 เห็นร้านอาหารแข่งกันออกโปรโมชั่นโดนๆมายั่วกิเลส ยิ่งทนไม่ไหว ต้องหาเวลาไปจัดกันหน่อยซักโปรสองโปร ให้สบายใจ 😉 พอดีเปิดเฟสมาเจอโปรน่าลองของโรงแรมเซนต์รีจิสพอดี ซึ่งเป็นโรงแรมที่เต๋อชอบอยู่แล้ว ก็เลยจัดซะเลย 😀 เป็นเมนูใหม่ของห้อง The Lounge ชั้นล่าง ที่ตอนนี้กำลังเสิร์ฟ Lobster and Burger อยู่ ดูน่าทานมาก อ่านที่โฆษณาในเพจ เบอร์เกอร์ของเขาใช้วัตถุดิบระดับพรีเมียมทั้งนั้น ทั้งล็อบสเตอร์เอย ทั้งเนื้อวากิวเอย  ฟัวกราส์ ชีส raclette roquefort สารพัน ก็เลยทนไม่ไหว พอเห็นเขามีโปรโมชั่นทุกวันพุธจัดเป็นเซ็ตเบอร์เกอร์ และล็อบสเตอร์โรล พร้อมเครื่องดื่มในราคา 700 บาท กับ 990 บาทเน็ตเท่านั้น ลองบวก ลบ คูณ หารดูแล้ว เห็นว่าคุ้ม ก็เลยต้องลองซักหน่อยค่ะ 😀

ว่าแล้วก็เกี่ยวก้อยชวนคุณแม่ไปทานสวยๆด้วยกันซะเลย พอดีช่วงนี้ มีเวลาว่างช่วงบ่ายวันพุธอยู่หนึ่งวันพอดี แถมร้าน The Lounge ก็ยังไม่เคยไปลองซะด้วย ก็เลยเสร็จเรา

ร้านอยู่ชั้นล่าง ใกล้ๆกับโจโจ้อ่ะค่ะ ที่แต่ก่อนเคยจัดเป็นที่ให้แขกนั่งพักเฉยๆ คราวนี้เขาปรับให้เป็นห้องอาหารใหม่อีกห้อง แนวแคชชวล แบบนั่งทานสบายๆ ก็ดูสวยงาม หรูหรา สมฐานะดีนะคะ 🙂

1a44559d-a5eb-40bc-a1fb-06a755de5fd6
The Lounge – St. Regis Bangkok Hotel

บรรยากาศข้างในก็จะเงียบ ออกขรึมๆหน่อย ตกแต่งสวย หรู ดูดีตามสไตล์เซนต์รีจีส จริงๆชอบตรงเงียบนี่แหละค่ะ 😀 มันดู exclusive ดี เหมือนนั่งทานอยู่ในห้องอาหารส่วนตัว โดยรวมแล้วเพลินมากค่ะ 🙂

8359e5fe-4e55-4c55-ba18-a83355506613
บรรยากาศภายในร้าน

พอได้ที่นั่งแล้วก็สั่งเบอร์เกอร์กันเลย คุณแม่สั่ง Rossini Burger ซึ่งก็คือเบอร์เกอร์เนื้อวากิว กับฟัวกราส์ เสิร์ฟพร้อมสลัด กับ truffle fries ที่หอมกลิ่นทรัฟเฟิลเบาๆ อร่อยมากค่ะ ส่วนเครื่องดื่มในเซ็ต คุณแม่สั่งกาแฟเย็น ผสมน้ำเชื่อมกลิ่นวานิลา เข้มข้น หอม อร่อยมาก เซ็ตนี้ 700 บาทถ้วน แอบชิมแล้ว ชอบมากกกกค่ะ คุ้มมาก เนื้อวากิวย่างมากำลังดี หอม ชุ่มฉ่ำมาก ส่วนฟัวกราส์ก็นุ่ม เนียน ละลายในปาก เขาให้มาชิ้นกำลังดี ไม่เล็กเกินไป ใส่มาซะปลิ้นเลย อร่อยมากค่ะ ยังคิดเลยว่าถ้าว่าง จะกลับมาซ้ำอีกรอบ 😀

img_7821
Rossini Burger

ส่วนของเต๋อสั่ง Lobster Roll ซึ่งก็เสิร์ฟพร้อมสลัด กับ truffle fries ตามเคย แต่เหมือน truffle fries เขาโรย parmesan cheese เพิ่มรสชาติด้วยค่ะ อร่อยมาก หอมชีสอวลอยู่ในปาก ส่วนตัว เต๋อแอบผิดหวังกับขนาดของ Lobster Roll นิดหน่อย เพราะใจหวังว่าน่าจะชิ้นใหญ่กว่านี้ T^T จริงๆรสชาติอย่างอร่อยเลยนะคะ เนื้อล็อบสเตอร์สด หวานฉ่ำมาก ตัวโรลก็นุ่ม หอมอร่อย ทามายองเนสรสวาซาบิ อร่อยฝุดๆ คือถ้าชิ้นใหญ่กว่านี้ จะให้สิบเต็มเลยค่ะ เซ็ตนี้ พร้อมเครื่องดื่มอีก 1 แก้ว ราคา 990 บาทเน็ต

img_7820
Lobster Roll

สำหรับเครื่องดื่ม เต๋อสั่ง Iced tea รสลิ้นจี่ ที่เรียกว่า Asia Tea ค่ะ หอม อร่อย ชื่นใจดีเหมือนกัน ให้มาแก้วขนาดบึ้มเลย คุ้มมาก ที่นี่เขาใช้ชา TWG ก็หอมใช้ได้อยู่ แต่ถ้าใช้มารียาจ จะสุดกว่านี้นะคะ

img_7803
Asia Tea

สรุปก็คืออร่อยมากทั้ง 2 อย่างค่ะ แนะนำให้สั่งเป็นเซ็ตจะคุ้มกว่า เพราะเขาให้เครื่องดื่มแก้วโตเลย ดื่มแทบไม่หมด ตัว truffle fries ก็ให้มาเยอะมาก บรรยากาศก็ดี บริการเลิศเหมือนเคย ชอบเลยล่ะค่ะ พุธไหนว่าง จะกลับไปซ้ำอีก 😀 แนะนำ Rossini Burger เลยค่ะ คุ้มมาก เป็นเบอร์เกอร์ไฮโซ 😀 จริงๆเขามีเสิร์ฟเป็น Tower ด้วยนะคะ สำหรับ 4-5 ท่าน มีเบอร์เกอร์อย่างละชนิด พร้อมล็อบสเตอร์อีก 2 ตัว เสียดายที่วันนี้มาแค่ 2 คน เลยสั่งมาทานคนละเซ็ต ก็อิ่มแล้ว แต่ถ้าใครสนใจ สั่งตามเมนูข้างล่างนี้ได้เลยค่ะ อร่อยมาก ❤

img_7832
เมนู

แต่แค่นี้ก็อิ่มกำลังดีแล้วค่ะ เดิอนหน้า ตั้งใจว่าจะกลับมาจัด Afternoon Tea ที่เป็นเซ็ตน้ำเต้าของ Qeelin ต่อ จะออกมาเป็นอย่างไร และจะอร่อยน่ารักสมคำร่ำลือหรือเปล่า รออ่านนะค้าาาา ❤

img_7819
อาหารอร่อย บรรยากาศดีมากค่ะ

ถ่ายเสร็จก็เข้าปากเลย

img_7833

 

The St. Regis Bangkok Hotel